ปิดดีลสูตรตั้งรัฐบาล 25 ก.ค. สภาสูงเตือนพร้อมคว่ำพท.

การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ พรรคเพื่อไทย ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีเส้นตายสำคัญคือ ต้องปิดดีลให้เสร็จก่อนถึงวันประชุมร่วมรัฐสภา 27 ก.ค.ที่จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีแมตช์ที่ 3

โดยหลังเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ค. เพื่อไทยส่งเทียบเชิญ 3 แกนนำพรรคการเมืองคือ ภูมิใจไทย-ชาติพัฒนากล้า-รวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมหารือ-รับฟัง ความเห็นการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทั้ง 3 พรรคก็ยื่นคำขาดเหมือนกันหมดคือ พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย แต่หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย ก็ไม่สามารถสนับสนุนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยได้

ต่อมา วันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค. ก็ถึงคิวของ ชาติไทยพัฒนา-พลังประชารัฐ ที่ยกทัพใหญ่มาร่วมหารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย

ในส่วนของชาติไทยพัฒนาที่มีด้วยกัน 10 เสียงในสภา ทาง วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุระหว่างร่วมแถลงข่าวกับแกนนำเพื่อไทยหลังเสร็จสิ้นการหารือ โดยย้ำว่า ต้องไม่แตะต้อง ไม่แก้ไข ไม่ยกเลิก มาตรา 112 หากแนวทางของพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่มีแนวคิดเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา และมีทัศนคติเชิงบวกต่อสถาบัน เราสามารถมาพูดคุยกันทำงานกันได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองใดมีแนวทางที่ต่างออกไป ก็คงแยกย้ายกันทำงาน

จากนั้นก็ถึงคิวของพลังประชารัฐ ที่ยกทีมนำโดย สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค-ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 

แต่ปรากฏว่า ระหว่างการหารือดังกล่าว กลุ่มม็อบสามนิ้ว คือกลุ่มทะลุวัง ได้เดินทางมายังพรรคเพื่อไทย เพื่อเรียกร้องจุดยืนไม่ควรนำพรรคพลังประชารัฐ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย โดยมีการแสดงออกด้วยการโปรยแป้ง-เทช็อกมินต์ ในที่ทำการพรรคเพื่อไทย รวมถึงในช่วงที่แกนนำทั้ง 2 พรรค ประชุมกันเสร็จและลงมาจะแถลงข่าว จนเกิดเหตุปั่นป่วนกันยกใหญ่ ทำให้แกนนำเพื่อไทยกับพลังประชารัฐไม่สามารถมานั่งแถลงข่าวร่วมกันได้ ต้องแยกย้ายแถลงกันไปแต่ละพรรค ซึ่งท่าทีของพลังประชารัฐก็ไม่ได้แตกต่างไปจากพรรคอื่นๆ

การเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวของเพื่อไทย เริ่มพบว่าอาจไม่ราบรื่น เพราะคนในพรรคเพื่อไทยบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย หากจะต้องตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ

ขณะเดียวกันเพื่อไทยก็ต้องเจอกับแรงกดดันจากประชาชน-มวลชน ทั้งฝ่ายเพื่อไทยด้วยกันเอง ที่ไม่เห็นด้วยหากจะถีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านแล้วตั้งรัฐบาลกับกลุ่มขั้วรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ อีกทั้งเพื่อไทยยังเจอแรงกดดันจากด้อมส้ม ขุมกำลังนอกรัฐสภาและในโซเชียลมีเดียของพรรคก้าวไกล ที่จ้องไล่ถล่มเพื่อไทยอย่างหนัก หากตั้งรัฐบาลโดยไม่มีก้าวไกล

พยากรณ์การเมืองได้ว่า หากเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้สำเร็จจริง ก็จะเป็นรัฐบาลที่ต้องเจอกับสารพัดม็อบที่จะตามมา จนเป็นรัฐบาลที่อาจประสบปัญหาเรื่องเสถียรภาพพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ดูหน้างานการเมืองกันแบบเฉพาะหน้ากับการโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้ ที่จนถึงขณะนี้เพื่อไทยก็ยังไม่ยอมประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะส่งชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นบุคคลให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ แต่ดูแล้วชื่อเศรษฐายังคงเป็นเต็ง 1 อยู่ แต่การจะลุ้นขึ้นเป็นนายกฯ ของเศรษฐา ตอนนี้ก็เริ่มเจอด่านสกัดแล้ว เพราะ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็เตรียมแฉเรื่อง คนอยากเป็นนายกฯ คนที่ 30 มีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายที่ดิน ซึ่งแม้ชูวิทย์ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นใคร แต่คนทั้งประเทศก็รู้ดีว่าเป้าของชูวิทย์คือใคร ที่ก็ไม่พ้น อดีตนักธุรกิจชื่อดังในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังลุ้นเป็นนายกฯ นั่นเอง ซึ่งหากข้อมูลหลักฐานของชูวิทย์แน่นหนาจริง ก็จะเป็นงานยากของเพื่อไทยเช่นกัน ในการจะดันให้เศรษฐาเป็นนายกฯ หากมีปัญหาเรื่องการทำธุรกิจในอดีต

แต่ด่านสำคัญของเพื่อไทย จริงๆ คงไม่พ้นการโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งถึงตอนนี้ พรรคก้าวไกลก็ยังเกาะขาเพื่อไทยแน่น ไม่ยอมปล่อย เพราะอยากเป็นรัฐบาลให้ได้ แม้เพื่อไทยจะส่งสัญญาณบีบก้าวไกลหลายรอบเพื่อหวังให้ก้าวไกลเลิกกอดขาเสียที แต่ก้าวไกลก็ไม่ยอมง่ายๆ เรียกว่าจะกอดจนนาทีสุดท้าย เหมือนกับต้องการให้พรรคเพื่อไทยประกาศไม่เอาก้าวไกลออกมาเอง เพื่อทำให้เพื่อไทยกลายเป็นผู้ร้ายทางการเมืองไปเองกับการไม่เอาพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภา ได้คะแนนมา 14 ล้านเสียง มาร่วมตั้งรัฐบาล แต่ไปร่วมตั้งรัฐบาลตามดีลลับ ที่มีกระแสข่าวมาตลอด

 ซึ่งหากเป็นแบบนี้ โดยที่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้พูดคุยกันทั้ง ภูมิใจไทย-ชาติพัฒนากล้า-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา-พลังประชารัฐ ก็ประกาศชัด หากมีพรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถโหวตให้เพื่อไทยได้ ที่ก็คือ ทำให้เพื่อไทยไม่สามารถหาเสียงมาเติมให้ได้ 375 เสียง จากฝั่ง ส.ส.เพิ่มได้

ขณะที่ท่าทีของ สภาสูง พบว่า ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาหลายคน ยังคงตั้งป้อมจะปิดสวิตช์พรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล ด้วยการออกมาประกาศว่า พร้อมสนับสนุนเพื่อไทยให้ตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย

อย่างเช่นท่าทีของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ที่ประเมินว่า หากพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย ก็มีแนวโน้มที่ สว.จะงดออกเสียงจำนวนมาก เพราะ สว.หลายคนไม่สนับสนุนให้พรรคก้าวไกลได้เข้าไปร่วมเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ด้วยเหตุผลความไม่เชื่อมั่นและไม่เห็นด้วยกับทิศทางการเมืองของพรรคก้าวไกล

ขณะที่ จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเช่นกันว่า เคารพครรลองของระบอบประชาธิปไตย หากพรรคการเมืองใดรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้ คือเกิน 250 เสียงขึ้นไป และไม่มีพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ก็จะโหวตให้ ดังนั้นหากยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็จะโหวตไม่เห็นชอบ

ด้าน พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ สมาชิกวุฒิสภา ที่เคยโหวตไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ กล่าวหลังถูกถามว่า หากการโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมรัฐบาลด้วย จะโหวตไม่เห็นชอบเหมือนเดิมหรือไม่ โดยตอบว่า “ยืนยันเหมือนเดิม จุดยืนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”

จากสถานการณ์ที่เพื่อไทย กำลังเผชิญอยู่ มองดูแล้วการขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย และสุดท้ายอาจต้องตัดสินใจบางอย่าง โดยก็ต้องแลกกับบางอย่างที่จะตามมา

เบื้องต้น นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศ 8 พรรคการเมืองร่วมตั้งรัฐบาลประชุมนัดสำคัญ อังคารที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น. โดยเพื่อไทยจะนำข้อสรุปความเห็นจากที่ได้คุยกับแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงความเห็นของ สว.ที่เพื่อไทยส่งตัวแทนไปคุยกับ สว.เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้โหวตนายกฯ จากเพื่อไทย เพื่อดูว่า สว.มีท่าทีอย่างไร เพื่อหาความชัดเจนก่อนจะถึงวันที่ 27 ก.ค.นี้

วิเคราะห์ได้ว่า หากเพื่อไทยเดินหน้าจะให้มีการโหวตนายกฯ 27 ก.ค. ไม่ขอเลื่อน ก็เป็นไปได้ที่ การคุยกันของ 8 พรรคดังกล่าว จะต้องมีข้อสรุป-มีการเคาะออกมาแล้วว่า จะเอาอย่างไร จะเดินหน้าเสนอชื่อนายกฯ ของเพื่อไทยวันที่ 27 ก.ค. ชื่อไหน และจะยังคงมีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่แน่ อาจถึงขั้นต้องลงมติกันระหว่าง 8 พรรคดังกล่าว เพื่อหาข้อสรุปก่อนถึงวันโหวต 27 ก.ค.

แต่ก็เชื่อว่า ก่อนจะถึงวันประชุมนัดสำคัญ 25 ก.ค. เพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร คงต้องตัดสินใจแล้วว่า จะเดินเกมตั้งรัฐบาลอย่างไร

เพื่อให้วันเกิดทักษิณปีนี้ 26 ก.ค. ทักษิณได้ของขวัญชิ้นสำคัญคือ เพื่อไทยกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก่อนทักษิณเดินทางกลับไทยในอนาคตอันใกล้.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา1/1เร่งเครื่อง ปม'พิชิต'ทำติดหล่ม หวังศาลรธน.เคลียร์จบ

ครม.เศรษฐา 1/1 หลังจากนี้ก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ หลังเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำ รมต.ที่ได้รับการแต่งตั้ง ที่มีทั้งรัฐมนตรีหน้าใหม่

'คนเสื้อแดง' จวกยับ! หัวหน้าเพื่อไทย 2 มาตรฐาน กลัวพวงเพ็ชรน้อยใจ แต่หมางเมินหมอชลน่าน

กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์สตอรี่อินสตาแกรม เป็นรูปภาพคู่กับนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทย พร้อมระบุข้อความว่า "รักเหมือนเดิม

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

'หมอชลน่าน' เคลื่อนไหวแล้ว โพสต์เฟซบุ๊กครั้งแรก ชี้แจงทุกประเด็นหลังหลุดเก้าอี้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณ เพจแพทย์ชนบท ที่โพสตให้กำลังใจผม และท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็มีบางอย่างที่ผมคิดว่า

ปลอบ 'ชลน่าน-ปานปรีย์' อย่าน้อยใจ ถือว่าชะตายังดีที่ยังไม่ต้องอยู่ในคุกเหมือน 'บุญทรง'

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า