เสียงเตือนหายนะทั้งแผ่นดิน แจกเงิน1หมื่นซ้ำรอยจำนำข้าว

สถานการณ์และปัญหาของประเทศเข้ามาแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น การกู้ภาพองค์กรตำรวจ น้ำท่วมเอาอยู่หรือไม่ สงครามระหว่างฮามาสและประเทศอิสราเอล ที่มีคนไทยเสียชีวิตและถูกจับเป็นประตัวกัน ฯลฯ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของนายกฯ ป้ายแดง "เศรษฐา ทวีสิน" จะสามารถเอาตัวรอดไปได้ หรือสุดท้ายจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากคนการเมืองในระบอบทักษิณในอดีตหรือไม่   

โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการแก้ปัญหาปากท้อง คือแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ด้วยงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป รวม 56 ล้านคนแบบถ้วนหน้า ที่คาดว่าจะแจกในช่วงวันที่ 1 ก.พ.ปีหน้า ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ 

เพราะนโยบายนี้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยจวบจนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็ถูกตั้งคำถามสารพัด ทั้งในแง่ของกฎหมาย ความเหมาะสม และเปิดช่องให้มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ 

รวมถึงคำถามไปถึงรัฐบาลเพื่อไทยจะนำเงินมาจากไหน กู้เท่าไหร่ และต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่, ยังไม่แน่ชัดว่าจะแจกเงินถ้วนหน้า หรือเจาะจงเฉพาะกลุ่ม, ยังไม่แน่ว่ารัศมีการใช้จะเป็นอย่างไร และร้านค้าปลีกรายใหญ่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้หรือไม่ 

ความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวนี้สะท้อนผ่าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่าไม่ควรแจกแบบถ้วนหน้า

เพราะไม่เห็นด้วยว่าบรรดาเจ้าสัว นายทุน หรือคนรวย จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ควรแจกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหรือเปราะบาง เพราะจะประหยัดงบประมาณลงได้จำนวนมาก นำไปแก้ปัญหาประเทศอื่นๆ 

ตามมาด้วยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในประเทศกว่าร้อยคน ที่ร่วมลงชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว เพราะมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย  

ที่น่าสนใจ รายชื่อดังกล่าวกลับพบ ดร.วิรไท สันติประภพ, ดร.ธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมลงชื่อคัดค้านด้วย 

นอกจากนี้มีนักวิชาการที่ค้านเรื่องนี้ยังเป็นคนเดียวที่เคยอยู่ในกระบวนการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว อาทิ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่ ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช.

"ดูแล้วมีการขวางหมากเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะลุยไฟไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลยโครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ ผมใช้คำว่าลุยไฟเลย คือหากอยากจะทำก็ทำ แต่รับรองเลยว่ามีผลแน่นอน แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกันว่าจะติดคุกหรือไม่อย่างไร” นายเมธี อดีต ป.ป.ช.กล่าว

ขณะที่แวดวงสภาสูงก็เป็นห่วงเรื่องนี้ และยังเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับระบอบทักษิณอย่าง "ถวิล เปลี่ยนศรี" วุฒิสภา กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีปัญหา ไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะต้องกระตุ้นมากนัก ควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต  

"สิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอรักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งคนไข้ไม่ได้ ประชาชนไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ รัฐบาลต้องกล้าหาญ ยอมรับสารภาพความจริง ไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ เป็นเรื่องดื้อรั้น ยังมีเวลาทบทวน นายกฯ ควรฟังเสียงท้วงติง"

เช่นเดียวกับลูกน้องเก่าของทักษิณ ยังออกมาดักคอ "จตุพร พรหมพันธุ์" วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน บอกว่า คนยังไม่เคยติดคุกอาจมีความคึกคักได้ผลักดันโครงการนี้ แต่ก่อนจะตัดสินใจอะไรไป ควรไปเยี่ยมนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับนายภูมิ สาระผล ในคุกก่อน แล้วสอบถามโครงการรับจำนำข้าวว่าวันนั้นเขาคิดอย่างไร และทำอะไร อย่างไรก็ตาม ตนได้เจอกันครั้งแรกในเรือนจำ เขาบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดที่สุดในชีวิต

แต่เสียงเตือนเหล่านั้นก็ไม่ทรงพลังและอำนาจเท่ากับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  

ล่าสุดมีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่

“นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เบื้องต้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกันว่าโครงการมีความสุ่มเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่

จากนั้นถ้ามีข้อห่วงใยจะเสนอความเห็นไปยัง ครม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้

"หาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ” เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว

แม้มีสัญญาณเตือนทั้งแผ่นดิน แต่ "เศรษฐา" และองคาพยพในพรรคเพื่อไทยยังจะเดินหน้าต่อไป พร้อมสั่งให้ร้านค้าต่างๆ เตรียมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้ แต่อาจมีการเปลี่ยนโครงการให้เกิดความเหมาะสม โดยหวังใช้ปัญหาปากท้องและความจนของชาวบ้านมาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคุ้มกันตัวเอง  

พร้อมกับย้อนรอยไปถึงรัฐบาลที่ผ่านมา ทำไมกู้เงินไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท แต่กลับไม่มีใครพูดถึง เพื่อตอบโต้เสียงท้วงติงจากขาประจำที่ล้วนแล้วเป็นปรปักษ์กับระบอบทักษิณ 

โดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงแนวทางที่มาของเงินจาก 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.การลดงบประมาณปี 2567 ที่ไม่จำเป็น 2.การให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจออกเงินให้ก่อน 2-3 แสนล้าน แล้วรัฐบาลชดใช้คืนให้ภายหลัง 3.การให้รัฐบาลกู้เงินโดยตรง  

ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะหรือไม่ เพื่อรองรับการกู้เงินทางตรงหรือทางอ้อม

สถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อไทยจึงเข้าทำนอง "กลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึง" เพราะด้านหนึ่งต้องรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนตามที่หาเสียงเอาไว้ หวั่นกู้ภาพจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แต่จะให้ลุยถั่วต่อไปโดยไม่ฟังสะท้อนก็มีโอกาสพลาดสูง ที่สุ่มเสี่ยงติดคุก หรือต้องหนีคดีออกนอกประเทศ  

อย่างเช่น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินมีความผิด 5 ปี ไม่รอลงอาญา ด้วยความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 เพราะปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน โดยมีสารตั้งต้นของเรื่องก็คือ ป.ป.ช.เป็นชี้มูลความผิดเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 7 ต่อ 0 

นอกจากนี้ยังสร้างหายนะให้แก่ประเทศที่ยังต้องชำระหนี้มาถึงปัจจุบันนี้ จากความผิดพลาดในนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย   

จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวจำนวน 9.85 แสนล้านบาท ด้วยการนำเงินจากการระบายข้าวมาจ่ายคืนหนี้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 371,280.05 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้อีก 289,304.73 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 660,584.78 ล้านบาท

ส่วนภาระหนี้ที่ค้างชำระที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้ให้กับ ธ.ก.ส.ทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 66,403.55 ล้านบาท และเงินที่ ธ.ก.ส.ไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่นอีก 184,474.62 ล้านบาท นั่นหมายความว่ายังมีหนี้จากจำนำข้าวที่รัฐบาลนี้ต้องชดใช้อีกทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท

จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทย นำโดย "นายกฯ เศรษฐา" จะดื้อรั้น ลุยฝ่ากระแสและเสียงต้าน อย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว หรือประนีประนอมและลดอีโก้ รับฟังและปรับปรุงข้อห่วงใยจากฝ่ายต่างๆ  

เนื่องจากหากผลร้ายเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายเท่านั้น คนที่ดิ้นไม่ออกคือ "ผู้นำประเทศ" และอีกสถานะคือ "รมว.การคลัง" ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งไม่นับความเป็นคนนอก ที่คนชั้น 14 สามารถตัดเนื้อร้ายทิ้งก่อนที่จะลุกลามตัวเองได้ตลอดเวลา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่

นายกฯ ปลื้ม! คนร้อยเอ็ดเชียร์นั่ง 2 สมัย 'พระอาจารย์ต้อม' มอบของขลัง

'เศรษฐา' ลุยต่อร้อยเอ็ด กราบนมัสการ 'พระอาจารย์ต้อม' ให้พรประสบความสำเร็จ มอบพระเครื่อง 'เสาร์ 5 ร้ายกลับดี' รับปากเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - ยาเสพติด ขณะชาวบ้านเชียร์นั่งนายกฯ 2 สมัย

“อุ๊งอิ๊ง”เล่นใหญ่เกินเบอร์ ไล่ทุบ"แบงก์ชาติ"กระแสตีกลับ สงครามเย็น พท.-ธปท.จบยาก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย ออกมาดาหน้าปกป้อง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นการใหญ่ หลังโดนวิจารณ์-ถล่มเละ กรณี อุ๊งอิ๊ง เล่นใหญ่เกินเบอร์ ใช้เวทีอีเวนต์การเมืองของพรรคเมื่อ 3 พ.ค. อ่านโพยตามสคริปต์ที่คนเขียนมาให้ ด้วยการ อัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า