‘เศรษฐา’ ภารกิจแน่น-โกอินเตอร์ถี่ เน้น ‘ปริมาณ’ รอตาม ‘ผลสัมฤทธิ์’

นับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 55 วัน  

จึงจะพาย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ที่เปรียบเสมือนคอนเซ็ปต์การทำงานประจำตัวกันอีกครั้ง รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังประเทศไทยที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเกือบร่วม 2 เดือน 

เริ่มตั้งแต่วิธีการทำงานของนายกรัฐมนตรีในแบบ ‘เศรษฐา’ ที่เคยให้สัมภาษณ์ระหว่างการทำศึกเลือกตั้ง เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยว่า ผู้นำจะต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุด คือ 7 วัน 24 ชั่วโมง 

“เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเสียสละมาก มันคือ 7 วัน 24 ชั่วโมง เราต้องทำหลายอย่าง ผมติดสุข ผมยอมรับ แต่ถ้าเกิดจะตัดสินใจทำงานแล้วก็ต้องทำให้ได้ เพราะมันก็ต้องเสียสละ” 

หรือการพาประเทศไทยไปโดดเด่นในเวทีโลกอีกครั้ง ซึ่งนายเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ในวาระเดียวกันไว้ว่า หลายปีที่ผ่านมาไทยไม่มีจุดยืนในเวทีโลกเลย 

“6-8 ปีที่ผ่านมาผู้นำของเราไม่ได้นำประเทศไทยไปมีจุดยืนในเวทีโลกเลย ผู้นำคนต่อไปผมว่าต้องกล้าที่จะเดินออกไปสู่เวทีโลก”  

หรือตอนรับตำแหน่งแล้ว นายเศรษฐาได้แถลงปิดท้าย ภายหลังเข้ารับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เสร็จสิ้น ซึ่งมีประโยคหนึ่งที่กลายมาเป็นภาพลักษณ์ติดตัวมาจนทุกวันนี้คือ จะทำหน้าที่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 

“ผม นายเศรษฐา ทวีสิน จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงของประชาชน นำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า และสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเราทุกคน นับจากวันนี้เป็นต้นไป”  

สำหรับเรื่องการทำงาน 7 วัน 24 ชั่วโมงนั้น ไม่ผิดจากความเป็นจริงมากนัก เพราะตลอดช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐามีภารกิจแทบทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่เสาร์-อาทิตย์ 

ขณะที่ในแต่ละวัน ภารกิจของนายกรัฐมนตรี นอกจากที่มีกำหนดการไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีภารกิจแทรกเกิดขึ้นระหว่างนั้นบ่อยครั้ง 

วันๆ หนึ่งภารกิจของนายเศรษฐามีปริมาณที่มาก แทบจะไม่อยู่ติดตึกไทยคู่ฟ้าและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งที่มาก เพราะแต่ละภารกิจใช้เวลาอย่างกระชับและรวดเร็ว  

ไม่ต่างจากช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่ในอดีตผู้นำคนอื่นมักจะใช้เวลาพักผ่อน หรือมอนิเตอร์ที่บ้าน แต่นายเศรษฐาจะต้องมีอย่างน้อยๆ 1 ภารกิจที่มีทั้งกำหนดล่วงหน้าและไม่ได้กำหนดล่วงหน้าโผล่ขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่าทำงานทุกวัน  

ส่วนเรื่องบทบาทบนเวทีโลก นายเศรษฐาน่าจะเป็นผู้นำของไทยที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศบ่อยมากคนหนึ่ง คล้ายกับยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้เวลาแค่ 2 ปี เดินทางไปต่างประเทศมากถึง 42 ครั้ง โดยเป็นการเดินทางเยือนประเทศในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ เยือนอย่างเป็นทางการ 26 ประเทศ และเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำอีก 19 ประเทศ 

ขณะที่นายเศรษฐาใช้เวลาเดือนกว่าๆ ไปมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรก 19 กันยายน ไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 2 ไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นประเทศแรกในอาเซียน เมื่อวันที่ 28 กันยายน ครั้งที่ 3 ไปเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่าง 8-12 ตุลาคม และล่าสุดคือ ไปประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 ที่จีน และไปเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคม  

แต่ท่ามกลางภารกิจที่หนาแน่นทั้งในและนอกประเทศ หลายคนกำลังเฝ้าจับตาว่า ‘ปริมาณ’ ที่มากมันสอดคล้องกับ ‘ผลสัมฤทธิ์’ ที่ออกมาหรือไม่ 

เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนย่อมคาดหวังเรื่อง ‘ผลสัมฤทธิ์’ มากกว่า ‘ปริมาณ’ 

อีกสิ่งที่ต้องประเมินคือ เมื่อนายเศรษฐาทำงานแบบ 7 วัน 24 ชั่วโมงแล้ว ‘กระแส’ ในตัวของเขาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า สิ่งที่นำพาเขามาอยู่ในจุดนี้ได้คือ กระแสของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่กระแสส่วนตัวของนายเศรษฐา 

นอกเหนือจากภารกิจแล้ว ผลงานที่เริ่มสตาร์ทในนามรัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ก็ถูกจับจ้องบนความคาดหวังที่สูงว่า จะเห็นความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากรัฐบาลชุดเก่า 

ยิ่งเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่พรรคเพื่อไทยยกว่าตัวเองเป็น ‘เต้ย’ ในด้านนี้ ยิ่งทำให้ความคาดหวังจากประชาชนมีสูง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็รู้ดีว่า ต้องรีบผลิตออกมาให้ประชาชนสัมผัสได้โดยเร็ว 

จึงไม่แปลกที่รัฐบาลพยายามจะรีบหยิบและคว้าบางเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งสามารถทำได้เลย ผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เห็นถึงความต่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ตลอดจนค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง  

ต้องการทำให้รู้ว่า สิ่งที่หาเสียงไว้สามารถทำได้จริงในยุค ‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำรัฐบาล 

เพียงแต่มันยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่คนยังไม่พูดถึงมากนัก จะเห็นว่า ระหว่างลงพื้นที่ จ.สุโขทัย นายเศรษฐายังถามกับประชาชนเลยว่า รู้หรือไม่ว่ารัฐบาลได้ช่วยเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันไปแล้ว 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องที่จะมีอิมแพ็กจริงๆ จนถูกพูดถึง คงน่าจะเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นโยบายพระเอกของพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แต่กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางการจับตาจากหลายภาคส่วน 

เพราะนโยบายนี้จะเป็นเหมือนนโยบายที่วัดฝีมือของพรรคเพื่อไทยอย่างแท้จริงว่า เป็น ‘มืออาชีพ’ หรือแค่เก่งแต่แจก เพื่อคะแนนความนิยมอย่างที่บางฝ่ายค่อนแคะกัน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' โร่แจงไม่เคยพูดจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ปัดแก้กฎหมายลดอำนาจ ชี้เห็นต่างกันแต่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นที่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่

อึ้ง! ‘อุ๊งอิ๊ง’ แค่ ‘รองปธ.ซอฟต์พาวเวอร์’ ปาฐกถาเหมือนเป็นนายกรัฐมนตรี

อดีตรองอธิการบดี มธ. ชี้การปาฐกถาพิเศษของคุณแพทองธารก็คือ คุณแพทองธารคือ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีบทบาทในรัฐบาลก็คือเฉพาะเรื่อง soft power แต่แสดงปาฐกถาเสมือนหนึ่งว่าตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี

นายกฯ ปลื้ม! คนร้อยเอ็ดเชียร์นั่ง 2 สมัย 'พระอาจารย์ต้อม' มอบของขลัง

'เศรษฐา' ลุยต่อร้อยเอ็ด กราบนมัสการ 'พระอาจารย์ต้อม' ให้พรประสบความสำเร็จ มอบพระเครื่อง 'เสาร์ 5 ร้ายกลับดี' รับปากเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - ยาเสพติด ขณะชาวบ้านเชียร์นั่งนายกฯ 2 สมัย