10 พ.ย.ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ชัด “เศรษฐา-พท.”ก็เตรียมม้วนเสื่อ

ก่อนจะถึงนัดหมายวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ย.ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ระบุว่า จะมีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนถึงนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ถึงขั้นระบุว่าวันดังกล่าวรู้เรื่องทุกอย่าง โดยเฉพาะที่มาที่ไป-ไทม์ไลน์กฎกติกาที่ชัดเจน อีกทั้งยังบอกด้วยว่า ในส่วนของแอปพลิเคชันเป๋าตังจะมีส่วนร่วมในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนในการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต

ก็ปรากฏว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง หลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่สำรวจระหว่าง 31 ต.ค.-2 พ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง

นิด้าโพล ระบุว่า เกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 50.08 เห็นว่า ควร จ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด

ที่ก็คือ เห็นด้วยที่จะต้องให้กับคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ได้กันหมดถ้วนหน้า ไม่ต้องมีเรื่องของว่าหากมีเงินเดือนเกิน 25,000 หรือเกิน 50,000 บาท-มีเงินฝากในธนาคารเกินห้าแสนบาทแล้วจะไม่ได้รับ

อันเป็นแนวนโยบายของเพื่อไทย ที่ชูธงในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่นโยบายช่วยเหลือทางการเงินหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจประเทศทั้งประเทศกลับมาคึกคัก มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่รัฐบาลจะอัดเงินเข้าระบบภายใน 6 เดือน ถึง 560,000 ล้านบาท จนทำให้ ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) หมุนในระบบเศรษฐกิจจากประชาชนไปถึงภาคการผลิตไม่น้อยกว่า 4-5 รอบ จนส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสิ้นปี 2567 หากมีการใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567

อย่างไรก็ตาม นิด้าโพลก็เผยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง รองลงมาร้อยละ 26.64 ระบุว่า ควรจ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 14.66 ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5 แสนบาท ร้อยละ 8.01ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้/เงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 แสนบาท

นอกจากนี้ นิด้าโพลยังเผยผลสำรวจด้วยว่า ในส่วนของ เกณฑ์พื้นที่/รัศมีการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 69.85 ระบุว่า ควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่/รัศมีมากำหนด

ที่ก็คือกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า คนที่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต ควรนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย เหมือนกับโครงการอื่นๆ ของรัฐบาลในอดีต เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนซึ่งได้สิทธิ์ดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั่วประเทศ ไม่ใช่ใช้ได้แค่วงจำกัดภายในไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน อย่างที่เพื่อไทยเคยวางกรอบไว้ ที่หลักคิดของเพื่อไทยคือเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครหรือเมืองท่องเที่ยวหลัก

แม้ต่อมาช่วงหลัง แนวคิดของคนในเพื่อไทยเริ่มเห็นด้วยที่จะขยายจากไม่เกิน 4 กิโลเมตร เป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอหรือเต็มที่ก็แค่ในจังหวัด แต่ก็ไม่ถึงกับให้ใช้ได้ทั่วประเทศ

โดยรองลงมาร้อยละ 14.50 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในจังหวัด (ตามทะเบียนบ้าน) ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในอำเภอ (ตามทะเบียนบ้าน) และร้อยละ 2.06 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้ารัศมี 4 กิโลเมตร (ตามทะเบียนบ้าน)

อีกทั้งผลสำรวจของนิด้าโพลพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 62.60 เห็นว่ากรอบระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต เห็นด้วยที่ให้ใช้ภายใน 6 เดือนตามที่เพื่อไทยหาเสียงไว้ ขณะที่รองลงมาร้อยละ 37.09 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 1 ปี

ประมวลสรุปได้ว่า ผลสำรวจนิด้าโพลรอบนี้ก็คือ กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วย-สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นเสียงสะท้อนตอบรับในทางบวกต่อนโยบายดังกล่าวของเพื่อไทย

มาแบบได้จังหวะอย่างนี้ ย่อมทำให้เศรษฐา-เพื่อไทยใจฟู แถมเข้าทางตีน เอาไปอ้างได้ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เหมือนที่คนเพื่อไทยบอกตลอดว่า ประชาชนส่วนใหญ่รอคอย อยากได้ดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนคนคัดค้านแค่เสียงส่วนน้อย 

คราวนี้ก็อยู่ที่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของเศรษฐา ในฐานะนายกฯ และ รมว.คลัง และในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ตั้งตามมติ ครม.

ซึ่งแม้มีกรรมการร่วม 28 คนที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ กระนั้นการตัดสินใจจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ก็อยู่ที่ตัวเศรษฐา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและ รมว.คลังเป็นหลัก

 ท่ามกลางข้อสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังมาตลอดถึงนโยบายดังกล่าว ที่จนป่านนี้ แกนนำเพื่อไทย โดยเฉพาะ จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง จากเพื่อไทย ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย ในการคุมทิศทางนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังตอบไม่ได้ถึงเรื่อง

แหล่งที่มาของเงินงบประมาณ

หลายแสนล้านบาท ที่จะนำมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะหากจะให้คนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี ได้พร้อมกันหมด ที่ต้องใช้งบร่วม 560,000 ล้านบาท

                    ก็อดใจรอดูกันกับโปรแกรมทอง 10 พ.ย. ว่าทิศทางดิจิทัลวอลเล็ตจะออกมาแบบไหน กับการเปิดเผย-การแถลงจากเศรษฐา นายกฯ-รมว.คลัง ถ้าไม่เจอโรคเลื่อนไปก่อน

โดย 3 ประเด็นใหญ่ที่เศรษฐาต้องตอบให้ชัด ในวันที่ 10 พ.ย.ก็คือ

1.แหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่ใช้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 

 2.การโอนเงินจะโอนให้คนไทยทุกคน หรือให้เฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน 

3.จะสามารถโอนได้เมื่อใด และโอนครั้งเดียว หนึ่งหมื่นบาทหรือโอนหลายงวด

หากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ไม่ชัด มีความคลุมเครือ เศรษฐาตอบไม่ได้ เลี่ยงบาลี จะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารประเทศของเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย มีปัญหาตามมาอย่างหนัก เพราะขนาดนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ตของเพื่อไทยยังอึมครึม-เข็นไปแบบยากเย็น การผลักดันนโยบายอื่นๆ ที่เคยหาเสียงไว้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถกรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ 'ชัชชาติ' แจงราชทัณฑ์เร่งลอกท่อ-กองทัพช่วยขุดลอกคลอง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกฯโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า “หารือกับมหาดไทย กลาโหม ยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ กรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เ

'วัชระ' จวกยับ 'วิษณุ' กลืนน้ำลายตัวเอง ขอปิดประตูการเมือง

นายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไปหานายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักแล้วแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สคล.)

'นักเรียนนอก' ถามรัฐบาลตั้ง 'วิษณุ' ช่วยงานเฉพาะกิจหรือระยะยาว แขวะยื่นศาลตีความจริยธรรม

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ เป็นที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะรัฐมนตรี (สลค.)

'วิษณุ' ยันไม่ใช่หัวขบวนชี้แจงศาลรธน. หลังรับตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาครม.

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยกับเนชั่นทีวี ถึง การพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันเสาร์ ที่ผ่านมา ที่บ้านพัก

'เศรษฐา' ไม่ขอพาดพิง 'บิ๊กป้อม' ปม 40 สว. ร้องศาลรัฐธรรมนูญ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการพาดพิงถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าอยู่เบื้องหลังกลุ่ม 40 สว. ว่า เรื่องนี้ได้อ่านข่าวมาบ้าง

'เศรษฐา' เผยตั้ง 'วิษณุ' เป็นที่ปรึกษาฯ รู้จักกันส่วนตัว ไม่กลัวถูกวางยา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลการแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)