ไฟเขียว 'นักโทษเทวดา' อยู่ยาว จับตาม็อบจุดติด ไฟลามทุ่ง?

การรักษาตัวอดีตนายกฯ ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าได้รับอภิสิทธิ์หรือไม่ เมื่อกลับเข้าประเทศถูกนำตัวเข้าเรือนจำยังไม่ทันข้ามคืนก็ออกมานอนห้องสูท แตกต่างจากนักโทษทั่วไป

ทำให้สังคมต้องหาคำตอบว่า “น.ช.ทักษิณ” ป่วยจริงหรือไม่ หรือถ้าป่วยจริงอาการเป็นเช่นไร ทำไมถึงต้องนอนรักษาตัวนานขนาดนี้ เพราะด้วยกฎของกรมราชทัณฑ์แล้ว การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ แต่ทุกอย่างอึมครึม

ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีนักโทษที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน มีเพียง 3 คน โดยเป็นนักโทษที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช 2 คน คนหนึ่งรักษาตัวอยู่ที่ รพ.จิตเวชพิษณุโลก นาน 210 วัน อีกคนรักษาตัวอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ 578 วัน

และอีกคนคือ น.ช.ทักษิณ ที่นอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ แล้วกว่า 140 วัน และยังไม่ทราบอาการป่วยที่ชัดเจน

ล่าสุด “กรมราชทัณฑ์” เต้นออกหนังสือชี้แจงอาการป่วย ทักษิณว่า “ขณะนี้นายทักษิณได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจเพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วยเพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้วมีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที"

การชี้แจงดังกล่าวคงไม่ได้สร้างความเชื่อถือได้ว่า น.ช.ทักษิณ ป่วยจริง ถึงขั้นต้องรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจต่อไปอีก โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้ร้องสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาตรวจสอบจริยธรรมแพทย์ ทั้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ออกมาเคลื่อนไหวให้เปิดอาการป่วย และส่ง น.ช.ทักษิณกลับเรือนจำ ล่าสุด นายพิชิต ไชยมงคล  นายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนํากลุ่ม คปท. พร้อมด้วย นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์, นายอานนท์ กิ่งแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) ยกระดับนัดชุมนุมค้างคืน หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12-14 ม.ค. เพื่อ "ทวงคืนความยุติธรรม" กดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย 

นอกจากนี้ยังมี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง ประกาศเข้าร่วมกับกลุ่ม คปท.ด้วย ขณะที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ซึ่งเคยสวมชุดดำไว้อาลัยกรมราชทัณฑ์ ไปยื่นหนังสือถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ตอบสังคม 'น.ช.ทักษิณ' ได้รับสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังทั่วไป ได้ทำการสืบสวนทางการแพทย์เรื่องนี้มาตลอด รู้ตัวละครทางการแพทย์ทุกคน จะมาชำแหละขบวนการอุ้ม นักโทษเทวดา และบอกข้อเท็จจริงทางการแพทย์ บนเวที คปท.ที่สะพานชมัยมรุเชฐ เวลา 16.00 น. วันที่ 12 ม.ค.นี้ด้วย 

สำหรับกลุ่ม คปท.เคยเป็นหัวหอกก่อม็อบไล่รัฐยิ่งลักษณ์ ที่แยกอุรุพงษ์ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2556 โดยมี นายนิติธร ล้่ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา เป็นที่ปรึกษา จนม็อบขยายตัวนับล้านคน ซึ่งปัจจุบัน ทนายนกเขา กับ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช.-คนเสื้อแดง ในฐานะวิทยากรคณะหลอมรวมประชาชนร่วมกันชำแหละ

ส่วนฝ่ายการเมือง นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมบุก รพ.ตำรวจ 12 ม.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบว่า น.ช.ทักษิณนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ จริงหรือไม่ หลังจากราชทัณฑ์ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

เมื่อกระแสสังคมบีบ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) รพ.ตำรวจ ได้มีหนังสือตอบรับการศึกษาดูงานของประธาน กมธ.ตำรวจ อนุญาตให้ กมธ.เข้าไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค.67 แต่ต้องไม่กระทบสิทธิ์หรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่อนุญาตให้ขึ้นไปตรวจสอบชั้น 14

ต้องจับตาการกลับมาของ น.ช.ทักษิณ ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) จากจำคุก 3 คดี รวม 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบการจำคุกใหม่ให้ใช้สถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้

ถึงแม้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงที่ทุกอย่างว่าเป็นไปตามกฎกระทรวง แต่ตัวบทกฎหมายกดทับความรู้สึกของประชาชน ถูกมองว่าใช้อภิสิทธิ์ชน อยู่เหนือกฎหมาย ท้าทายประชาชนที่รักความยุติธรรม จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวสร้างความแตกแยกให้กับสังคมอีกครั้ง

การปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาลของกลุ่ม คปท. วันที่ 12-14 ม.ค.นี้ จะเป็นการหยั่งกระแสมวลชนว่าม็อบจุดติดหรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา1/1เร่งเครื่อง ปม'พิชิต'ทำติดหล่ม หวังศาลรธน.เคลียร์จบ

ครม.เศรษฐา 1/1 หลังจากนี้ก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ หลังเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำ รมต.ที่ได้รับการแต่งตั้ง ที่มีทั้งรัฐมนตรีหน้าใหม่

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

'ทักษิณ' เที่ยวสวนน้ำภูเก็ต เตรียมทัวร์อีสานปลายเดือน พ.ค.

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยภารกิจส่วนตัว ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. หลังจากไม่ได้มาเยือนกว่า 17 ปี ทั้งนี้ได้มีโอกาสพปปะเพื่อนฝูงเก่าๆ และนักธุรกิจเก่าๆ ที่รู้จัก

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)