31 ม.ค.ชี้ชะตาพิธา-ก้าวไกล เดิมพันอนาคตการเมืองไทย

 

แม้คำวินิจฉัยเรื่องหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นคุณกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สามารถกลับเข้าไปเป็น สส.ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน 

แต่เรื่องที่หวาดเสียวและชี้ชะตาอนาคตพรรคสีส้มและการเมืองไทย หมุดหมายอยู่ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินจากกรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่

หรือที่รู้จักในชื่อ คดีล้มล้างการปกครอง โดยมีผู้ร้องที่1 พิธา-ผู้ร้องที่ 2 พรรคก้าวไกล ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา 

โดยมีผู้ร้องคือ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกกระทำการใดๆ หรือหยุดการกระทำใดๆ หรือเลิกการแสดงความเห็น พูด เขียน พิมพ์ โฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่นๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยในคำร้องดังกล่าวนี้ยังไม่ถึงขั้นยุบพรรค   

ในคำร้องได้ยึดบรรทัดฐานตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 19/2564 หรือคดี ทะลุเพดาน ที่สุดท้ายสั่งให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำที่จะก่อขึ้นต่อไปในอนาคตขึ้นมาเทียบเคียง  

โดยมีสาระสำคัญของผู้ร้องระบุว่า ...การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร มีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 

ในประการที่อาจนำไปสู่การเซาะกร่อน บ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของราชอาณาจักรไทย อันอาจจะเป็นการนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน จึงจำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม 

ขณะที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนจากผู้ร้องที่ 2 แย้งผ่านการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า “คำวินิจฉัยจะไม่ได้ออกมาเป็นทางลบขนาดที่หลายคนกังวลว่าจะไปไกลถึงขั้นเกิดการยุบพรรค” เนื่องจากเป็นเพียงการร้องให้ยุติการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ

พร้อมประเมินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสออกได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ผลออกมาเป็นลบ สั่งให้ยกเลิกการกระทำ ถ้าศาลเห็นว่านโยบายของพรรค ก.ก.เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

2.ออกมากลางๆ ค่อนไปทางลบ ตีกรอบว่าการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 มีขอบเขตทำได้แค่ไหน “นั่นอาจเป็นเป้าประสงค์อันดับพื้นฐานก็ได้ว่าอาจจะต้องการแค่ตีกรอบเนื้อหาบางอย่าง”

3.ผลออกมาเป็นบวก ยกคำร้อง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการนิติบัญญัติคือการเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเสนอร่างกฎหมายใหม่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการเสียงข้างมากใน สส.และ สว. และต่อให้ผ่านรัฐสภาไปได้ ก็ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นโดยกระบวนการได้วางกลไกป้องกันไม่ให้ออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

“เราพยายามต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาบั่นทอน ทำลาย ลดทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ลดการคุ้มครองแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการทำให้การคุ้มครองประมุขของรัฐได้สมดุล ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังคงฐานความผิดนี้อยู่ และคุ้มครองเหนือกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐอื่นๆ ด้วย เจตนาของเราคือยังต้องการปรับการลงโทษในฐานความผิดนี้ให้มันได้สัดส่วนกับพฤติการณ์การกระทำผิด” หัวหน้าพรรคก้าวไกลชี้แจงข้อกล่าวหา 

ตัดมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในอดีตประเด็นเรื่องของมาตรา 112 เคยวางบรรทัดฐานมุมนิติศาสตร์เอาไว้แล้ว โดยยกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เป็นหัวใจสำคัญ และผูกพันกับมาตรา 112 ในการพิทักษ์และปกป้องสถาบัน ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้” ผ่านคำวินิจฉัยที่ 28-29/2555 

“คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา เคยโพสต์สรุปสาระสำคัญเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่โต้แย้ง ว่ามาตรา 112 สอดคล้องและเสมือนเป็นกฎหมายลูกบทของรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 8 (หรือมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 60), พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสถาบันหลักและคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง มิให้ผู้ใดละเมิด การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

มาตรา 112 จึงอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ, การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นการคุ้มครองเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น, ต้องบัญญัติโทษไว้พอสมควรแก่เหตุ, มาตรา 112 เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อความมั่นคงของรัฐที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 (ปัจจุบันอยู่ในมาตรา 34) และมาตรา 112 สอดคล้องกับหลักนิติธรรม  

แต่ประเด็นที่อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระยื่นร้องในมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 60 ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัย ท่ามกลางการจับตาว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพในฐานะพรรคการเมืองของพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอนโยบาย การทำหน้าที่ สส.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ในการเสนอและแก้ไขกฎหมาย และต้องผ่านกระบวนอีกหลายขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ จะถือว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่

เพราะต้องฝ่าฟันอีกหลายด่านหิน ได้แก่ การวินิจฉัยของประธานรัฐสภาว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 หรือไม่ เช่นในอดีตประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” เคยไม่บรรจุร่างแก้ไขของพรรคก้าวไกลในรัฐบาลสมัยที่แล้ว 

รวมถึงยังต้องผ่านการพิจารณาในสภา 3 วาระ วุฒิสภา 3 วาระ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนทูลเกล้าฯ เพื่อให้มหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจึงประกาศเป็นกฎหมาย      

ฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า จะเป็นการหลักการสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 

หรือศาลรัฐธรรมนูญจะยอมให้แก้ไขได้ หรือแบบมีเงื่อนไข และต้องไม่เป็นอย่างที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียง หลังหลายฝ่ายเป็นกังวลว่าเนื้อหาสุ่มเสี่ยงลดทอนสถานะของกษัตริย์ และอาจส่งผลให้มีการละเมิดประมุขแห่งรัฐได้

หากเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลก็จะไม่ถูกยุบพรรค และคาดว่าเพื่อคานอำนาจกับพรรคเพื่อไทย ที่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ไว้วางใจในระบอบทักษิณ     

หรือจะวินิจฉัยแบบเคร่งครัดตามคำร้องเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ป้องกันมิให้สถาบันถูกละเมิด เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเข้าเขตแดนล้มล้างการปกครองฯ ถือเป็นหัวเชื้อ หรือสารตั้งต้น ดำเนินการเอาผิด "พิธา" และ "พรรคก้าวไกล" ให้ตกกระดานทางการเมือง

เชื่อว่าหลังจากนั้นจะมีผู้ยื่น หรือ กกต.ยกขึ้นมาเอง และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างเช่น พรรคไทยรักษาชาติถูกสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (2) มาแล้ว 

อาจมีขยายผลเช็กบิลย้อนหลังไปเอาผิด "พิธา" และและ สส.พรรคก้าวไกลรวม 44 คน ในสมัยที่แล้ว เพราะเคยลงชื่อเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อประธานสภาฯ ในปี 2564 ก่อนถูกประธานสภาฯ ปัดตกไปเพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ว่าการกระทำเช่นนั้นขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

เพราะแค่หาเสียงยังผิดข้อหาล้มล้างแล้ว และเคยเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 จะไม่ผิดหนักกว่าหรือ เพื่อประหารชีวิตทางการเมืองตลอดไป อย่างเช่น “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 31 ม.ค.นี้ จะออกมาแบบไหนสุดคาดเดา แต่ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญกำหนดอนาคตการเมืองไทย. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศชอ. คัมแบ็ค! ประกาศกลับมาแล้ว พร้อมลุยใช้กฎหมาย ม.112 ปกป้องสถาบัน

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ.โพสต์ข้อความว่า "กลับมาแล้ว" หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 2566 ได้ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหวใช้กฎหมายในการปกป้อง ช

'ชัยธวัช' กระตุกปรับครม.หมุนเก้าอี้ตามโควต้า หวังรมต.คุมกห.ดันแก้กม.ปฏิรูปกองทัพต่อ

'ชัยธวัช' ชี้ปรับครม.ขอเน้นคนเหมาะกับงานมากกว่าหมุนเก้าอี้ตามโควต้าทางการเมือง ไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาล ทำให้ประชาชนผิดหวัง หวังรมต.คุมกลาโหม ดันแก้ร่างกม.ปฏิรูปกองทัพต่อ

'ชัยธวัช' หวัง 'รัฐบาล' ทบทวนคำถามประชามติ ลั่นต้องแก้ถ้อยคำหมวด1,2 ด้วย

'ชัยธวัช' หวัง 'รัฐบาล' ทบทวนคำถามประชามติ ให้เปิดกว้าง-เข้าใจง่าย หวั่นคะแนนเสียงตกน้ำ เหตุมีเงื่อนไข ย้ำ 'ก้าวไกล' ไม่คิดขวาง รธน. ฉบับใหม่ แต่ห่วงล็อกบางหมวดมีปัญหาเชิงเทคนิค ลั่นต้องแก้ถ้อยคำในหมวด1,2ด้วย