วันพุธที่ 26 มิถุนายน ก็มาถึงแล้วสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน รอบสุดท้าย เพราะเป็นการเลือก สว.ระดับประเทศ มีการคาดหมายกันว่า ช่วงเย็นวันที่ 26 มิ.ย. คนทั้งประเทศจะได้เห็นรายชื่อว่าที่ สว.ชุดใหม่ 200 รายชื่อ
อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการด้วย ซึ่งถึงตอนนี้ กกต.ยังคงยืนยันว่า จะประกาศรับรองรายชื่อว่าที่ สว.ทั้งหมด 200 คน ในวันที่ 2 ก.ค. เพื่อให้เตรียมเข้าปฏิบัติหน้าที่การเป็น สว.ชุดใหม่ต่อไป หลังเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ จัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี โดยมีขั้นตอนคือ ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบร่วม 3,080 คน จะต้องรายงานตัวตั้งแต่เวลา 08.00-09.00 น. เมื่อรายงานตัวต่อคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกแล้ว ให้รออยู่ในสถานที่เลือก
โดยการเลือกรอบแรก จะเป็นการเลือกกันเองของผู้สมัครในกลุ่มสาขาอาชีพ 20 อาชีพ โดยผู้สมัครสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันได้ ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่จะไม่สามารถให้คะแนนบุคคล 1 บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นและเข้าสู่การเลือกรอบสอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ ซึ่งจากรอบแรกผู้สมัครที่ได้รับเลือก 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 40 คน จะ จะมีจำนวนผู้สมัคร 800 คนที่เข้าสู่ในรอบที่ 2
สำหรับการเลือกในรอบที่ 2 หรือรอบไขว้ หลังจากที่มีการจับสลากแบ่งสายเรียบร้อยแล้ว โดยจะแบ่งเป็น 4 สาย สายละ 5 กลุ่มอาชีพ ซึ่งรายการลงคะแนนผู้สมัครจะต้องเลือกบุคคลที่อยู่กลุ่มอาชีพอื่นในสายเดียวกัน โดยจะไม่สามารถเลือกตัวเองหรือผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกัน
ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนจะมี 5 คะแนน โดยผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกจะได้รับเลือกเป็น สว.
ส่วนผู้ที่ได้คะแนนในลำดับที่ 11-15 ของกลุ่มนั้นๆ จะอยู่ในบัญชีสำรอง ซึ่งจะได้ สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน
เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศแล้ว จะต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว กกต.เห็นว่าการเลือกไปโดยสุจริต ถูกต้อง เที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา หรือเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นทุกกระบวนการแล้ว และเมื่อประกาศรายชื่อเสร็จ กกต.จะส่งรายชื่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ สว.ชุดใหม่ไปรายงานตัวต่อไป
ซึ่งรายชื่อผู้สมัครหลายคนที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดเข้ามาก็มีหลายคน มองข้ามช็อตไปแล้วว่า อาจมีลุ้น เก้าอี้ใหญ่ในสภาสูง
หลังพบว่ามีแคนดิเดต สว.ที่ผ่านมาเข้ารอบสุดท้าย หลายคนถูกมองว่าเป็น สายตรงทักษิณ-คนเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และน้องเขย ทักษิณ ชินวัตร ที่เพียงแค่ไปยื่นสมัคร สว.ที่อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ก็มีชื่อเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้ประมุขสภาสูงเสียแล้ว
และยังมี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ-อดีต รมว.พาณิชย์ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตประธาน บมจ.ไอทีวี และอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ชินคอร์ปฯ ตั้งแต่ยุคทักษิณ ยงทำธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่ผ่านเข้ารอบ สว.จากจังหวัดสมุทรสงคราม รวมถึงยังมี ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการยุครัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งรู้กันดีว่าสมัยเป็น สว.มหาสารคาม ปี 2543 เขาคือ มือประสาน-ตัวกลาง ในการประสานทางการเมืองระหว่างทักษิณกับวุฒิสภาช่วงปี 2543 จนทำให้วุฒิสภายุคดังกล่าวถูกตั้งฉายา สภาชิน
เดิมทีก่อนหน้านี้ ศรีเมืองเปิดตัวลงสมัครชิงนายกฯ อบจ.มหาสารคาม โดยมีการเดินสายหาเสียง-ขึ้นป้ายในจังหวัดแล้ว แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแผน เพราะเพื่อไทยหันไปดัน พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชายของ เดอะโจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีต สส.มหาสารคามหลายสมัย ทำให้ศรีเมืองเปลี่ยนรันเวย์ไปลงสนามวุฒิสภา ท่ามกลางกระแสข่าว หากศรีเมืองฝ่าด่านเข้ารอบสุดท้าย ได้เป็น สว.ก็จะได้รับการผลักดันให้มีตำแหน่งใหญ่ในวุฒิสภา
ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูกันว่า กลุ่มผู้สมัครเครือข่าย สว.สีส้ม จะฝ่าด่านเข้ารอบสุดท้ายได้กี่คน แม้จะมีการประเมินกันว่า น่าจะเข้ามาได้ไม่ถึง 1 ใน 3 อย่างที่ทางกลุ่มตั้งเป้าไว้ แต่ของแบบนี้ก็ไม่แน่ อาจพลิกโผได้ในช่วงโค้งสุดท้าย หากมีการแก้เกมมาดีในการโหวตรอบสุดท้าย 26 มิ.ย.นี้
ด้านมุมมองต่อ โฉมหน้าสภาสูง 2567 รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการ-นักวิเคราะห์การเมือง วิเคราะห์ว่า สว. 200 คน จะมาจาก 4 กลุ่มหลักๆ
“สำหรับภาพรวมของ สว.ชุดใหม่หลังจากนี้ เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่า สว.ที่จะเข้าไป ก็จะมีกลุ่มหลักๆ คือ หนึ่ง ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า มีเข้าไปแน่นอน สอง ตัวแทนกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ สาม กลุ่มตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองก็จะแบ่งเป็นพรรคแดง กับพรรคส้ม สี่ คือสัดส่วนของ สว.สายประชาชน ที่อาจจะเป็นสัดส่วนที่น้อย ซึ่งหากถามว่าทำไมต้องมีส่วนนี้ด้วย ก็เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เห็นว่า ยังมี สว.จากประชาชน แต่จะมีสักประมาณ 10-20 คน เพื่อที่จะได้ไม่ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้”
นอกจากนี้ ดร.โอฬาร ยอมรับว่า หากสุดท้าย ถ้านายสมชายเข้ารอบสุดท้ายได้เป็น สว.ขึ้นมา ก็มีความเป็นไปได้ที่ "ประธานวุฒิสภาคนใหม่" จะเป็นน้องเขยทักษิณ เพราะโดยคุณสมบัติ และโดยลักษณะจังหวะก้าวทางการเมืองของทักษิณ นายกฯ ตัวจริง และสมชาย ก็อยู่ในสถานะน้องเขย และยังเคยเป็นอดีตนายกฯ มีพรรคการเมืองสนับสนุน ที่ก็ทำให้มีโอกาสมากที่จะเป็นประธานวุฒิสภา ที่ก็เป็นวิธีการในสไตล์การเดินจังหวะทางการเมืองของนายทักษิณ ที่ต้องการกุมสภาพต่างๆ ให้ได้ คือบางคนไปมอง สว.ชุดใหม่เพียงแค่ว่าจะเข้าไปโหวตเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไปเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะแม้ สว.ชุดใหม่จะโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่สามารถปลดนายกฯ ได้ ผ่านองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.หรืออย่างตัวอย่างกรณีกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นคำร้องคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ในเวลานี้นายทักษิณเขาฉลาด คือเขาเห็นแล้วว่าตอนนี้พื้นที่การเมือง ไม่ว่าอย่างไรเสีย ดูจากผลโพลต่างๆ ก่อนหน้านี้ พื้นที่ซึ่งยึดครองการเมืองคือพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย เพียงแต่หลายคนไปมองว่า เพื่อไทยกับก้าวไกล เวลานี้คือฝ่ายตรงข้ามกัน แต่ถามว่าในอนาคตหากก้าวไกลได้ สส.มาอันดับหนึ่งหลังเลือกตั้ง ใครจะจับมือกับก้าวไกล ถ้าไม่ใช่เพื่อไทย เพราะก้าวไกลไม่มีทางได้ สส. 300 เสียงขึ้นไป และหาก 2 พรรคคุม สว.ได้มันก็จบ
อย่างไรก็ตาม แม้ กกต.จะประกาศรับรองรายชื่อ สว.ชุดใหม่ ในวันที่ 2 ก.ค. แต่ กกต.ก็สามารถ
"รับรองไปก่อน-สอยทีหลัง"
ได้ เพราะ กกต.มีดาบในมือหลายเล่ม ที่ให้อำนาจกับ กกต.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 สำหรับจัดการกับ สว.ที่ได้รับการรับรองไปแล้ว ให้ต้องหลุดจากตำแหน่งได้
ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 62 ที่บัญญัติว่า เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือก สว.ระดับประเทศแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น
โดยเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
หรือในมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือก สว.ไปแล้ว หากต่อมา ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?
ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม
กม.สกัดรัฐประหาร‘ส่อแท้ง’ พรรคร่วมไม่อิน-ไม่เอา
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับ ‘หัวเขียง’ ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น
จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ
หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง
พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ
เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ
เพื่อไทยแจกเงินรัฐถังแตก? แผนสะดุดอดปล้นแวต15%
แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะมั่นอกมั่นใจว่าจะอยู่ครบวาระหลังมีภูมิคุ้มกันด้วยพลังแฝง จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องคดี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำรัฐบาล
'ป่วยทิพย์' ชั้น 14 ในมือป.ป.ช. อีก 1 คดีจุดเปลี่ยนการเมือง
ไม่กี่วันก่อน นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนที่มี นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน