ปมขัดแย้งกรณีที่ดินเขากระโดง แม้แกนนำรัฐบาลของทั้ง 2 พรรคคือ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะออกมายืนยันว่า ปัญหาดังกล่าวไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างทำหน้าที่ พร้อมย้ำว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง
หลัง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินหน้ายื่นศาลปกครอง คัดค้านคำสั่งของกรมที่ดิน ที่ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของการรถไฟ เนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นข้อยุติ โดย “สุริยะ” ประกาศกร้าวว่า “ไม่ยอมเสียที่ดินแม้แต่ตารางวาเดียว”
ขณะที่ “มท.1” ระบุว่า “ถามว่าจะไปสั่งอธิบดีกรมที่ดินให้ทำสิ่งที่ผิด ใครจะไปทำ เพราะท่านเหลืออายุราชการ 1-2 ปี ท่านไม่ทำหรอก คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่สมเหตุสมผล ผมเคยพูดแก่ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยตลอดว่าไม่ต้องทำตาม"
ซึ่งในข้อกฎหมายต่างๆ ระหว่างกรมที่ดิน และ รฟท. เชื่อว่ายังต้องสู้กันอีกยาว กลายเป็นปัญหาคาราคาซังต่อไป ไม่แน่ว่าจะจบในรัฐบาลนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายการเมืองพยายามจะไม่ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่บัดนี้กลายเป็นประเด็นการเมืองไปเสียแล้ว หลังถูกปั่นกระแส โดย “ไพศาล พืชมงคล“ นักวิเคราะห์การเมือง ยังออกมาโพสต์ว่า "เพลงกระบี่อำมหิตบรรเลงแล้ว เพื่อไทยเดือดกะซวกคืนภูมิใจไทย ส่อแตกหัก" โหมโรงต่อโดยสื่อและนักวิเคราะห์ต่างๆ ประเมินปรากฏการณ์นี้ต่อไป
โดยมองว่าพรรคเพื่อไทยสบช่องขยายประเด็นนี้ เพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง กลบความล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ขณะที่ระเบิดเวลาต่างๆ ก็ถูกวางไว้รอบตัว ผ่านนักร้องระดับประเทศต่างๆ ไม่เว้นแม่แต่นายใหญ่ นายน้อย หรือพรรคการเมือง ถูกร้องต่อองค์กรอิสระยาวเป็นหางว่าว
แตกต่างจากสถานะของพรรคภูมิใจไทย ที่เปรียบเป็นพยัคฆ์ติดปีก หลังได้แรงหนุนจากสภาสูง สีน้ำเงิน กว่า 120-150 เสียง นอกจากมีไม้เด็ดในสภาสูงแล้ว ทั้งกลั่นกรองกฎหมาย ตั้งกระทู้ถาม ตรวจสอบผ่าน กมธ.ยังรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองได้อีกแล้ว และยังมีส่วนในการเคาะเลือกรายชื่อองค์กรอิสระในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย รวมถึงยังเดินเกมเก็บแต้มการเมืองจากฝ่ายอนุรักษนิยมอีกด้วย
ฉะนั้นเมื่อลูกบอลเข้าทางตีนปมเรื่องเขากระโดง จึงเป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทยทำลายความน่าเชื่อถือพรรคภูมิใจไทยในทันที ปักชนักติดหลังไม่ให้ยืนหล่อเพียงลำพัง
เพราะต้องไม่ลืมว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า คู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทยก็คือพรรคภูมิใจไทยนั่นเอง เนื่องจากกลไกและวิธีการเพื่อชนะเลือกตั้งเป็นรูปแบบเดียวกัน การแข่งในสนามแบบเดียวกัน ใช้อาวุธแบบเดียวกัน แย่งชิงคนกลุ่มเดียวกันด้วย ต่างจากคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคส้ม ที่เป้าหมายอยู่คนละตลาด
รวมถึง “สุริยะ” ที่คุมกระทรวงคมนาคม แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ระยะหลังเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ภาคอีสานเพิ่มขึ้น อย่างเช่นการเลือกตั้ง อบจ.สนามต่างๆ ก็ได้แรงหนุนจาก “บิ๊กซัน” ผู้นี้จนชนะมาหลายสนาม ขณะที่ สส.พรรคเพื่อไทยในภาคอีสานก็เรียกว่า “นาย”
สอดคล้องกับ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม เด็กในคาถานายใหญ่เพื่อไทย และโจทก์เก่าของพรรคสีน้ำเงิน เพราะเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ ในสมัยที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็น รมว.คมนาคมในรัฐบาลที่ผ่านมา ก็สบช่องตีกิน ดิสเครดิสพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญในพื้นที่ด้ามขวานในภาคใต้ หลังพรรคประชาชาติไร้น้ำยาไม่สามารถ กระตือรือร้นเอาผู้ต้องหามาดำเนินคดีตากใบได้ ก่อนหมดอายุความ 20 ปี ไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2567
อีกทั้งยังมองได้ว่าพรรคเพื่อไทยยังถือโอกาสสั่งสอนพรรคภูมิใจไทย ที่ก่อนหน้ามีกระแสข่าวว่าเป็นจอมขวาง นโยบายจานด่วนของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาสิโน, เรื่องแก้สัญญา 3 สนามบิน (ดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ), ร่างระบบราง ที่วิจารณ์กันว่าหวังตอบแทนเจ้าสัวและนายทุนของพรรค
เช่นเดียวกับประเด็นร้อนทางการเมืองอย่าง เรื่องนิรโทษกรรมมาตรา 112 ที่ก่อนหน้าพรรคเพื่อไทยมี สส.เสื้อแดง และฝ่ายก้าวหน้า ต้องการให้เหมารวมคดี 112 ไปด้วย
รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราปมจริยธรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ถูก สว.สีน้ำเงินตั้งแง่ และปรับมาแก้ไขกฎหมายประชามติต้องเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด 2 ชั้น (Double Majority) แทนเสียงข้างมากชั้นเดียวตามมติสภาล่าง
ซึ่งขณะนี้ตั้ง กมธ.ร่วม สส.และ สว.พิจารณากันอยู่ หากตกลงกันไม่ได้ต้องพักเรื่องนี้ไป 180 วัน ฯลฯ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่เสร็จในรัฐบาลเพื่อไทย และไม่ตรงกับตอนหาเสียง
นอกจากนี้อีกด้านหนึ่งมองว่า ยังถือเป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทยใช้ประเด็นนี้ไว้ต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองกับบรรดาแกนนำพรรคภูมิใจไทยใช่หรือไม่
ส่วนที่ประเมินกันว่าปมเขากระโดงจะทำให้พรรคเพื่อไทย-ภูมิใจไทย แตกหักกันหรือไม่ ฟันธงได้เลย คงไม่มีพรรคไหนกินหญ้ากระทำเช่นนั้น และเชื่อว่า 2 พรรคนี้จะอยู่ในสภาพตบจูบเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนครบเทอมอีก 2 ปี 6 เดือน
เพราะอย่างแย่สุด ก็จะกลับมาพูดคุยหรือหาทางออกร่วมกัน อย่างเช่นเรื่องกัญชาที่จบกันด้วยดี โดยให้ควบคุมโดยการออกพระราชบัญญัติ แทนการดึงกลับไปเป็นยาเสพติด เป็นต้น
รวมถึงข้อเสนอ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะให้ รฟท.และกรมที่ดินจับเข่าคุยสางปัญหาเขากระโดงร่วมกัน เพราะเหตุขัดแย้งมาจากการสื่อสาร
เนื่องจากบริบทในเวลานี้ยังไม่มีพรรคฝั่งรัฐบาลไหนอยากเลือกตั้ง เพราะปีเศษที่ผ่านมา หมดเวลากับการแก้ปัญหาการเมืองทั้งสิ้น ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนได้ทำงาน และผลักดันนโยบายของตัวเองได้เต็มที่ เช่นเดียวกับ “กระสุน-กระแส” ยังไม่พร้อมรบเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ความสามารถ-วุฒิภาวะ’ เสียงวิพากษ์ ‘อิ๊งค์’ เริ่มอื้ออึง
ดูเหมือน ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มจะเข้าใจมากขึ้นว่า การเป็น ‘ผู้นำประเทศ’ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่สามารถถ่ายทอดทางดีเอ็นเอได้
'อนุทิน' เมิน 'หมอเชิดชัย' เสนอยุบสภา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีน.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์
นายกฯ สั่งทีมโฆษกฯ ตีปี๊บผลงานรัฐบาล ลงพื้นที่น้ำท่วมใต้ขอถาม ครม.อังคารนี้ก่อน
นายกฯ มอบนโยบายทีมโฆษกรัฐบาล สั่งตีปี๊บผลงาน ผุดตั้งคกก.ศูนย์ภัยพิบัติ ดูแลปัญหาดินน้ำลมไฟ จะลงพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ ขอถามครม.พรุ่งนี้ก่อน
นายกฯโบกมือทักทายสื่อ เรียกทีมโฆษกรัฐบาลมอบนโยบายหลังครบทีม
นายกฯเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล โดยทันทีที่ลงจากรถนายกฯ ได้หันมายิ้มโบกมือทักทายสื่อมวลชน ก่อนเดินเข้าตึกไทยคู่ฟ้า
'ภูมิธรรม' ให้ท้าย 'หมอเชิดชัย' อ้าง พท.-ภท. ยังแน่นปึ้ก
'ภูมิธรรม' ชี้ 'หมอเชิดชัย' ขู่ภูมิใจไทย ไม่กระทบสัมพันธ์พรรคร่วม อ้างแค่ความเห็น สส. แต่อำนาจยุบสภาอยู่ที่นายกฯ
นายกฯสั่ง ศปช. เร่งสำรวจพื้นที่หลังน้ำลดชงครม. เข้าโหมดเยียวยายึดแม่สายโมเดล
นายกฯให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจโดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำลดว่า มีความเสียหายรูปแบบใดและให้กำหนดแนวทางเยียวยานำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป