‘ความสามารถ-วุฒิภาวะ’ เสียงวิพากษ์ ‘อิ๊งค์’ เริ่มอื้ออึง

ดูเหมือน ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มจะเข้าใจมากขึ้นว่า การเป็น ‘ผู้นำประเทศ’ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่สามารถถ่ายทอดทางดีเอ็นเอได้

หลังจากบริหารประเทศมาสักพักใหญ่ๆ บททดสอบของการเป็นนายกฯ ของประเทศไทยเริ่มยากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่เริ่มถูกตั้งคำถามถึง ‘ภาวะผู้นำ

ความอายุน้อย ของนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย ไม่ใช่สาระสำคัญ หากแต่อยู่ที่ วุฒิภาวะและการวางตัวในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุด แพทองธารถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องการลำดับความสำคัญ ในช่วงเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งแรกของรัฐบาลที่ จ.เชียงใหม่ และลงพื้นที่ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัยที่กำลังหนักหนาสาหัสในภาคใต้

 ‘แพทองธารใช้เวลาลงพื้นที่อย่างเต็มที่ตลอด 3 วันที่ภาคเหนือ ในขณะที่สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ กลับมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงไป

แน่นอนว่า กำหนดการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ ถูกกำหนดเอาไว้นานแล้ว ก่อนที่จะมีสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้

หากแต่ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ‘แพทองธาร’ สามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมการลงพื้นที่ภาคเหนือได้ โดยอาจจะเหลือแค่การเข้าร่วมประชุม ในขณะที่กำหนดการลงพื้นที่อื่นๆ สามารถมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทำแทนได้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน หรือฉุกเฉินแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกับสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ที่ช่วงระหว่าง ‘แพทองธาร’ อยู่ จ.เชียงใหม่นั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ในฐานะนายกฯ สามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมได้ทันที เช่นเดียวกับการตัดสินใจลงพื้นที่ได้ทันที

 ‘แพทองธารไม่จำเป็นต้องลงไปเกะกะการทำงานของเจ้าหน้าที่หน้างาน แต่การที่นายกฯ ลงไป ย่อมเห็นสภาพปัญหา และสั่งการแก้ไขปัญหาได้ทันที

ไม่เพียงการไม่รีบลงไปช่วยพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเท่านั้น ภารกิจของนายกฯ ที่ภาคเหนือก็ถูกติติงว่า ไม่ได้เร่งด่วนถึงขนาดจะละหรือมอบคนอื่นแทนไม่ได้

ทั้งการไปเดินถนนคนเดิน ทั้งการไปสวนสัตว์ ตลอดจนการพาครอบครัวเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเหมือนไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้เลย

แม้ ‘แพทองธาร’ จะออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดรามาในเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ละเลยภาคใต้ แต่คำอธิบายดูจะยิ่งทำให้ตัวเองวิกฤตกว่าเดิม

 “โอ้ คำว่าละเลยภาคใต้ สามีเป็นคนใต้ ครอบครัวสามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ ไม่รักคนใต้ แต่งงานคนใต้ไม่ได้นะคะ

คำตอบดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์กว่าเดิมว่า นายกฯ สามารถชี้แจงด้วยการยกเหตุผลอื่นๆ ที่ฟังดูแล้วเหมาะสมมากกว่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องยกเรื่องสามีขึ้นมาเปรียบเปรย

เพราะคำตอบไม่ได้ทำให้คนฟังเข้าใจมากขึ้น แต่ยิ่งตั้งคำถามถึง ‘วุฒิภาวะ’ ว่า นี่เป็นคำตอบของคนระดับนายกฯ

ไม่เพียงเรื่องอุทกภัยในภาคใต้ เรื่องการเดินทางไปโชว์ วิสัยทัศน์ หรือให้สัมภาษณ์ในเวทีระดับชาติก็ถูกตั้งคำถามมาสักพักเหมือนกันว่า ‘แพทองธาร’ จะพาประเทศไปรอดหรือไม่ พร้อมทั้งถูกค่อนแคะว่า เป็น นายกฯ ไอแพด

โดยเฉพาะเมื่อตอนให้สัมภาษณ์กับรองประธานบริหาร Forbes Media เมื่อเดือนพฤศจิกายน นายกฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ตอบไม่ตรงคำถาม และพูดวกไปวนมา จนถูกติงแรกๆ ว่า เหมือนถามช้างตอบม้า ทั้งที่มีการส่งสคริปต์เอาไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน บางข้อมูล บางตัวเลข ก็สื่อสารไปผิด อย่างเช่น ตัวเลขการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

ขณะที่เรื่องการใช้ ‘ภาษาอังกฤษ’ ที่ดูเหมือนคล่องแคล่ว ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หลายประโยคไม่สามารถจับใจความได้ว่า ต้องการจะสื่ออะไร

ไม่เว้นแม้แต่การเล่นโซเซียลมีเดียของ ‘แพทองธาร’ ที่แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้สามารถโพสต์อะไรก็ได้มากมาย ทั้งรูปภาพ ทั้งการแสดงความเห็น เพราะไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อเป็นนายกฯ แล้ว กลับยังทำเหมือนเดิม ไม่ค่อยระมัดระวัง

ซึ่งแม้โซเชียลมีเดียจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ในเมื่อนายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมต้องระมัดระวังมากกว่าเก่า เพราะทุกโพสต์ ทุกคำพูด มันสะท้อนถึงประเทศได้

ล่าสุด โพสต์คำคมผ่าน Intragram story ระบุว่า…“ความคิดในเชิงลบของคุณ สะท้อนถึงความเป็นจริงในตัวคุณ” “คนที่ไม่มีความมั่นคง มักดูถูกคนอื่น เพื่อยกระดับตัวเองซึ่งชวนให้ถูกตีความว่า กำลังสื่อถึงใคร หมายถึงใคร ระหว่างที่กำลังมีดรามาเรื่องอุทกภัยอยู่หรือไม่?

ถ้า ‘แพทองธาร’ เป็นบุคคลธรรมดา ก็มีสิทธิ์ แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย การโพสต์อย่างนี้ยิ่งทำให้ถูกตั้งคำถามถึง วุฒิภาวะอีกคำรบ

ด้าน สวนดุสิตโพลก็เผยแพร่ผลสำรวจรอบล่าสุดพบว่า ดัชนีการเมืองไทยเดือนพฤศจิกายน ลดลงต่ำกว่า 5 คะแนน สะท้อนถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในขณะที่คะแนนผลงานของนายกฯ ก็ลดลง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ‘แพทองธาร’ ยิ่งกลับต้องเผชิญแรงกดดันและคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง ความสามารถและวุฒิภาวะ

บางคนเริ่มพูดเสียงดังๆ ว่า ทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่ สถานที่ฝึกงาน และประเทศไม่ใช่ หนูทดลอง

หากผลงานไม่ออก ในขณะที่ผู้นำเริ่มถูกกังขาถึงความเหมาะสม จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' ตีปี๊บภารกิจดาวอส ประสบความสำเร็จมาก ทั่วโลกจับตามองทีมไทยแลนด์

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจในการร่วมประชุม World Economic Forum Annual Meeting 2025 ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

แชร์ว่อน! 'ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย' ฟาด 'นายกฯ' หนีตอบกระทู้ PM2.5 ลั่น ถ้าเป็นที่พึ่งปชช.ไม่ได้ อย่ามาเป็นรัฐบาล

จากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในประเทศไทย อยู่ในสถานการณ์วิกฤต ทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส มายังประเทศไทย

ขึ้น 'รถไฟฟ้า-รถเมล์' ฟรี 7 วัน! รัฐบาลล้วงงบกลางแก้ฝุ่น PM2.5

นายกฯ สั่งคมนาคม ให้ประชาชนขึ้น 'รถไฟฟ้า - รถขสมก.' ฟรี 7 วัน 25-31 ม.ค. แก้ปัญหา PM 2.5 เตรียมชงครม.ใช้งบกลางชดเชย 140 ล้านบาท พร้อมตั้ง 8 จุตรวจจับควันดำ

บี้ 'อิ๊งค์' ปกป้อง 'เอกนัฏ' ล่าไอ้โม่งลงขันเปลี่ยนตัว รมว.อุตสาหกรรม

24 ม.ค. 2568 - นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ปกป้อง เอกนัฏ" โดยระบุว่า ติดตามข่าวการตอบกระทู้ถามสด ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ถึงการเลือกปฏิบัติในการรับซื้ออ้อยเผาของ นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย รู้สึกตกใจกับคำตอบของนายเอกนัฏ ตอนหนึ่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีการลงขันจำนวนเงิน 200- 300 ล้านบาท เพื่อย้ายนายเอกนัฎ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเมืองไทย ที่มีกลุ่มทุนอิทธิพลเหนือการเมือง ใช้เงินลงขันด้วยเงินหลักร้อยล้านบาท เพื่อเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าหากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ขอให้กำลังใจนายเอกนัฎ ในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง และควรจะเปิดเผยชื่อตัวการลงทุนย้ายนายเอกนัฎออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หากไม่สามารถเปิดเผยชื่อต่อสังคมได้ ก็ควรนำเรื่องนี้ไปเรียนให้กับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทราบว่ามีกลุ่มบุคคลหนึ่ง ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือการเมือง สามารถใช้เงินทุนโยกย้ายเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ หากนางสาวแพทองธาร ยังเอาไม่อยู่ เพราะไม่มีอำนาจที่แท้จริง ก็ต้องนำเรื่องนี้ให้ถึงมือของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด เป็นเจ้าของรัฐบาลตัวจริง และสามารถสั่งการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีได้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าหากเรื่องนี้เป็นความจริง นางสาวแพทองธาร จะต้องปกป้องนายเอกนัฎ เพราะการดำเนินนโยบายห้ามไม่ให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผา เป็นมาตรการป้องกันมลพิษ PM 2.5 ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร แต่ถ้าเมื่อนายเอกนัฎได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของนางสาวแพทองธารแล้ว แต่ไปสะดุดต่อ นางสาวแพทองธารในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องรับผิดชอบ และสืบหาตัวไอ้โม่งผู้อยู่เบื้องหลังการลงขัน เพื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีอุตสาหกรรมให้ได้ ขอให้สังคมเรียกร้อง กดดันให้รัฐบาล เปิดโปงขบวนการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีออกมาให้สังคมรับรู้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มทุนใดๆ ทั้งสิ้น.