ดีเดย์เลือกตั้ง กทม.-พัทยา

เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ที่ห่างหายมาอย่างยาวนานจากวงการหย่อนบัตร

 โดยครั้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2 รูปแบบนี้ เริ่มจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งล่าสุดคือ 3 มี.ค.2556 ส่วนเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาย้อนกลับไปเมื่อ 17 มิ.ย.2555

 จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งทั้ง 2 แห่งล้วนเกิดก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนั้นได้มีการเว้นว่างจากการเลือกตั้ง แต่ตัวผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และนายกเมืองพัทยายังสับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ อันเนื่องมาจากการแต่งตั้งจาก คสช.

                    ความเป็นไปได้ที่คนกรุงและคนพัทยาจะได้ออกมาใช้สิทธิ์ในเร็ววันนี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นัดหารือกับกระทรวงมหาดไทยเมื่อ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงความพร้อมการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา

หลังจากหารือกันเสร็จสิ้นจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 23 ก.พ. และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จากนั้น กกต.จะประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และนายกเมืองพัทยาต่อไป

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 กำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งหลังรัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะให้มีการเลือกตั้งกรุงเทพฯ และเมืองพัทยาในช่วงเดือน พ.ค.2565 ระดับคณะทำงาน 2 หน่วยงานได้มีการหารือกันก่อนหน้านี้ และมีการจัดทำแผนการทำงาน โดยคาดว่าวันที่ 8 มี.ค. กระทรวงมหาดไทยจะนำเรื่องเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งทั้ง 2 รูปแบบ

 ต่อมาช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ กกต.ทราบ และช่วงวันที่ 21-31 มี.ค. กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง กทม.และเมืองพัทยา โดยภายใน 5 วันหลังจาก กกต.ประกาศก็จะเริ่มรับสมัคร

 ส่วนวันเลือกตั้ง ได้มีการยืนยันจากนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าการเลือกตั้งทั้ง 2 แห่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือน พ.ค. ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. หรือวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค. ขอให้รอดูเมื่อกระทรวงมหาดไทยเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อดูวันและเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

ปัจจุบันสำนักงาน กกต.ประจำกรุงเทพมหานคร และสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดชลบุรีอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนที่จะเสนอ กกต.วินิจฉัยและออกประกาศเพื่อให้มีผลใช้บังคับ

ซึ่งเชื่อว่าจะทันกับการจัดการเลือกตั้งที่มีขึ้น โดยในส่วนของกรุงเทพฯ จะใช้เขตกรุงเทพฯ เป็นเขตเลือกตั้ง มีผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ 1 คน ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพฯ ใช้เกณฑ์พิจารณาตามจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564

และตามกฎหมาย ตลอดจนระเบียบที่เกี่ยวข้องเห็นว่าไม่มีเขตปกครองใดในจำนวน 50 แห่ง ที่มีจำนวนราษฎรอยู่ที่จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมี 50 คนตามจำนวนเขตปกครองทั้ง 50 เขตที่เป็นเขตเลือกตั้ง

ขณะที่เมืองพัทยา ทางสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดชลบุรีมีการเสนอรูปแบบการแบ่งเขต 3 รูปแบบ ซึ่งทุกรูปแบบจะมีเขตการเลือกตั้งจำนวน 4 แห่ง จำนวนสมาชิกเขตเลือกตั้งละ 6 คน ให้ กกต.พิจารณา โดยจะมีการเลือกนายกเมืองพัทยา 1คน และสมาชิกสภาเมืองพัทยารวม 24 คน 

มาดูทางฝั่งการเมืองถือว่าโหมโรงมานานพอสมควร โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือแม้จะเป็น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่แม้จะเปิดตัวไม่นาน แต่ก็มีความต้องการที่ให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด กลับกันทางซีกรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ยื้อมาอย่างยาวนาน

โดยมีกระแสว่ายังเลือกผู้สมัครไม่ลงตัวว่าจะส่งใครลงชิงชัย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการลองเสียงอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมพังยับเยิน อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลพร้อมส่งผู้สมัครที่ตอบโจทย์คนเมืองแล้ว

ดังนั้นการเลือกตั้งมีกระแสชัดเจนแล้วว่าเกิดในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นสนามสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในอนาคต เชื่อว่าคนกรุงและคนพัทยาไม่น้อย กำลังตั้งตารอคอยที่จะได้ออกไปใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

‘วิโรจน์’ หนุน ‘สุทิน’ แก้กฎหมายกลาโหม สกัดรัฐประหาร ลั่นต้องทำให้ถึงแก่น

‘วิโรจน์’ เห็นด้วยในหลักการ หลัง ‘สุทิน‘ เสนอแก้ ’กฎหมายกลาโหม‘ สกัดรัฐประหาร แต่ต้องแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว ชี้ เป้าหมายสูงสุด คือทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ แนะ ควรปรับสัดส่วน ‘สภากลาโหม’ ให้เหลือแค่ 11 คน-มีทหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง