'คลัง' อวดต่างชาติมองเศรษฐกิจไทย 65 โต 4% โควิดทุเลา-ท่องเที่ยวฟื้น

“คลัง” อวดต่างชาติเศรษฐกิจปี 65 ยังขยายตัวได้ 4% หลังสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น นโยบายการคลังกระทุ้งเศรษฐกิจต่อเนื่อง แถมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นปลุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคัก ช่วยขับเคลื่อนครึ่งปีหลังบูม

17 มีนาคม 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: FCBDM) ระหว่างวันที่ 16 – 17 มี.ค. 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวคิดหลัก “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” (“Advancing Digitalization, Achieving Sustainability”) ว่าการประชุมได้มีการหารือที่สำคัญ ดังนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค 2022 (APEC Finance Ministers’ Process (APEC FMP) Work Plan 2022) ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูภูมิภาคเอเปคในบริบทโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมดิจิทัลและการเงินอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น เสนอประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิดหลัก ได้แก่ 1. การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งมุ่งเน้นการหาแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนสำหรับทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเขตเศรษฐกิจ

2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้เน้นด้านการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันในภูมิภาค โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐของเอเปค และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ 2. การหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Payment Connectivity) และ 3. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุน

นอกจากนี้ ผู้แทนหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit: APEC PSU) ได้ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.4% และปี 2566 ที่ 3.8% ขณะที่เศรษฐกิจเอเปคในปีนี้จะขยายตัวที่ 4.2% และปีหน้าที่ 3.8% โดยเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19, อัตราเงินเฟ้อ, การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, ระดับหนี้ที่สูง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อและความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานได้

นายพรชัย กล่าวอีกว่า ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 4.4% ต่อปี โดยภูมิภาคเอเปคในปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเขตเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สะท้อนจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมใหม่เฉลี่ย 7 วันที่มีจำนวนลดลง ปริมาณผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวของประชากรในชุมชน (COVID-19 Community Mobility Reports) ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น สะท้อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลาย ๆ เขตเศรษฐกิจได้ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 4.0% ต่อปี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความไม่แน่นอนของด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น นโยบายการคลังที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวจากต่างชาติจะสามารถกลับมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง