'ไทยพาณิชย์' หั่นจีดีพีเหลือ 2.7% ชี้สงครามดันเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ14ปี

“EIC” ลุยหั่นจีดีพีปี 65 เหลือ 2.7% ชี้ผลกระทบสงครามกระทุ้งราคาพลังงาน-สินค้าโภคภัณฑ์ทะยานแรง เงินเฟ้อกระฉูด 4.9% สูงสุดรอบ 14 ปี ห่วงใช้จ่ายในประเทศชะลอสวนทางค่าครองชีพ ตลาดแรงงานยังซึม แนะรัฐทยอยปรับขึ้นดีเซล ระบุตรึงราคานานสร้างภาระงบประมาณ หากยกเลิกอุดหนุนฉับพลัน หวั่นทำเศรษฐกิจชะงัก

29 มี.ค. 2565 – นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2565 ลงมาอยู่ที่2.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2% เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9%

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ทันค่าครองชีพ ขณะที่การเร่งตัวของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ตามการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมของภาครัฐ จะกระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่ และภาคธุรกิจจะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลง โดยมีแนวโน้มทยอยปรับราคาสินค้าทั่วไปเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภคมากขึ้นเป็นลำดับ และชะลอ การลงทุนจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

ขณะที่การส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรปที่ชะลอลงกว่าคาดและปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (supply disruption) ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ ขยายตัวได้ที่ 6.1% แต่เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ

สำหรับภาคการท่องเที่ยว มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐที่ผ่อนคลายขึ้น รวมถึงการทยอยเปิดการเดินทางของหลายประเทศในแถบเอเชีย จะช่วยชดเชยการชะลอลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่ถูกกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนผลกระทบจากต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน ส่งผลให้ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่5.9 ล้านคน ขณะที่ตลาดแรงงานนั้น การฟื้นตัวของภาคบริการตามทิศทางการเปิดเมืองจะส่งผลให้การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร รวมถึงแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้นจากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก และปัญหาระยะยาวจากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและปัญหาแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ธุรกิจโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างและโรงแรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ประสบปัญหาการหาแรงงานและมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ค่าจ้างจากการทำงานจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่รายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงานโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปรับลดลงกว่า 10%

“ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังคงเผชิญปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา ภาระหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐจึงยังควรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย” นายยรรยง กล่าว

อย่างไรก็ดีEIC มองว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดาน มีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติ คือ1. เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลักคือครัวเรือนที่มีรายได้สูง 2. การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณ ไม่ยั่งยืน สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้ และ3. ในระยะยาว การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่สะท้อนต้นทุนเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากเกินไป ดังนั้นภาครัฐจึงควรเปลี่ยนมาตรการโดยเน้นการบริหารราคาพลังงานในลักษณะทยอยปรับขึ้นราคา ไม่ฝืนทิศทางตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว และเสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

ทอ. เตรียมส่ง UAV สนับสนุนรักษาความปลอดภัยแนวชายแดน อ.แม่สอด

เพจ กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force ได้เผยแพร่ภาพ และข้อมูลว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนด้านตรงข้าม อ. แม่สอด จว.ตาก กองทัพอากาศ โดยศูนย์ยุทธการทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ

'เศรษฐา' เตรียมบินไปแม่สอด 23 เม.ย. หลังปะทะเดือดใกล้ชายแดนเมียนมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตข้อความผ่าน x ว่า “จากสถานการณ์การปะทะกันบริเวณสะพานมิตรภาพ 2 ฝั่งเมียนมา