เฮ! สหรัฐจัดไทยอยู่ในบัญชี WL เหมือนเดิมชมจัดการปัญหาลิขสิทธิ์ได้ดี

“พาณิชย์”แจ้งข่าว สหรัฐฯ ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคู่ค้า ภายใต้กฎหมายมาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 65 แล้ว ไทยยังคงอยู่ในบัญชี WL เหมือนเดิม แต่ชื่นชมไทยมีความคืบหน้าด้านการปราบปราม การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ “วุฒิไกร”เตรียมลุยชี้แจง ผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ต่อไป

2 พ.ค. 2565 – นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2565 โดยไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ซึ่งกรมฯ จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อให้สหรัฐฯ รับทราบความก้าวหน้าด้านการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงในรายงานได้อย่างเหมาะสม และผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ได้สำเร็จต่อไป

ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ จะคงบัญชี WL แต่ได้ชื่นชมไทยที่พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาในหลายมิติ ทั้งด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การผลักดันการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร การแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาครัฐ และการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ ที่ส่งผลให้ไทยพร้อมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

นายวุฒิไกร ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็ง จนเกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบจดทะเบียนแบบ Fast Track การให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร การส่งเสริมการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการกวดขันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกรูปแบบ ซึ่งเห็นได้จากในรายงานตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก (Notorious Markets) ประจำปี 2564 ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนก.พ.2565 ก็ไม่ปรากฏย่านการค้าและตลาดออนไลน์ของไทยแต่อย่างใด

“กรมฯ ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะช่วยผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ได้สำเร็จ และในส่วนของกรมฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น”นายวุฒิไกรกล่าว

สำหรับการประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญของสหรัฐฯ ในปีนี้ มี 7 ประเทศถูกจัดอยู่ในบัญชี PWL ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา และมี 20 ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี WL ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อียิปต์ อัลจีเรีย ตุรกี บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ตรินิแดดและโตเบโก และไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์ขึ้นทะเบียน 'ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการใหม่จังหวัดตราด

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน “ทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด” สินค้า GI รายการใหม่ ประจำจังหวัดตราด เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติหวาน มัน เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ชาวพังงาเฮ 'ปลิงทะเลเกาะยาว' ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ตัวใหม่แล้ว

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศ ขึ้นทะเบียน “ปลิงทะเลเกาะยาว” เป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของจังหวัดพังงาต่อจากทุเรียนสาลิกาพังงา ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และมังคุดทิพย์พังงา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ 3.3 ล้านบาทต่อปี

พาณิชย์จับมือศูนย์การค้า MBK ต่อต้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร พร้อมด้วยภาคเอกชนเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ลุยงานเชิงรุกรณรงค์ปลูกจิตสำนึกเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ค้าและประชาชนทั่วไป ณ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

พาณิชย์ร่วมกับ MBK จัดการสินค้าก๊อปแบรนด์

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาหารือผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ยกระดับการป้องปรามสินค้าละเมิดฯ หนุนผู้ประกอบการไทยเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มโดยอาศัยทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์

พาณิชย์ชี้ช่องผู้ออกแบบลายกางเกงลายไทยยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญาชวนผู้ผลิต ผู้ออกแบบลายกางเกง ที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่สำคัญของแต่ละท้องถิ่น ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานของการสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์ทางการค้า เผยยื่นจดง่ายผ่านออนไลน์ หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ แนะต่อไป ควรพัฒนาไปถึงขั้นสร้างเครื่องหมายการค้าเป็นของตัวเอง