บอร์ด ก.ต.ท. สั่งห้าม 'บริษัทบริหารลงทุน' ขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ โดยไม่อนุญาตให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจในลักษณะบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ทุกประเภทต่อผู้ลงทุนหรือประชาชน เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

20 พฤษภาคม 2565 -นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชน เพื่อป้องปรามไม่ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกอบธุรกิจในลักษณะการบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) อันเป็นการหลีกเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (regulatory arbitrage) รวมทั้งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน โดยสรุปดังนี้

(1) กำหนดให้บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องไม่มีลักษณะเป็น investment company ยกเว้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าว

(2) บริษัทที่ถือว่ามีลักษณะเป็น investment company คือ มีการลงทุนในลักษณะที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร (passive investment) เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ไม่รวมการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือ hedging) และสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น รวมกันเกินกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวมตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ ไม่นับรวมการลงทุนเพื่อบริหารสภาพคล่อง เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เงินลงทุนในบริษัทร่วมที่ไม่เป็น investment company เงินลงทุนในบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทใหญ่เดียวกัน และเงินลงทุนในบริษัทอื่นเพื่อให้เกิด synergy ต่อธุรกิจหลักของบริษัท เป็นต้น

(3) กำหนดให้ บจ. ที่มีการลงทุนประเภท passive investment เกินกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์รวม มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าวในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อใช้ในการติดตามการลงทุนของ บจ.

(4) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และ บจ. ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถเสนอขายหลักทรัพย์ทุกประเภทที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ต่อผู้ลงทุนหรือประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตและแนวทางการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บุญถาวร ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น

BOON ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ ชูศักยภาพผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร

ก.ล.ต. เผยสถิติหลอกลงทุนผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ทะลุ 202 เคส ช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุด

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดสถิติการแจ้งเบาะแสผ่าน “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้รับแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 202 บัญชี และปัจจุบันดำเนินการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงดังกล่าวไปแล้ว 175 บัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86 ของจำนวนบัญชีที่ได้รับแจ้งทั้งหมด

‘รัฐบาล - ก.ล.ต.’ ยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

“รัฐบาล-ก.ล.ต.” ประกาศความสำเร็จ “ยกระดับหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล” ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางระดมทุนในภูมิภาค

'เศรษฐา' ร่ายยาวปลุกตลาดทุนไทย

'เศรษฐา' ปลุกดึงศักยภาพ เสริมแกร่งตลาดทุนไทยระยะยาว เดินหน้าตอบโจทย์ความท้าทาย ด้านดิจิทัล ชูโปรเจกต์ Thailand ESG Fund วาง 3 แนวทางสู่ดัชนีความยั่งยืน