‘คลัง’ฟุ้งเศรษฐกิจเดือนเมษายังสดใสส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนแรง

‘คลัง’ ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. 2565 ยังสดใจ ส่งออก-ท่องเที่ยว-ภาคเกษตรหนุนขยายตัวต่อเนื่อง จับตาใกล้ชิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน หวั่นกระทบราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ

30 พ.ค. 2565 – นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย. 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตร โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.6% รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8.0% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.7 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและระดับราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.3% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.4% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่-6.5%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,521.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ 9.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น, สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว และอาหารสัตว์เลี้ยง, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าคงทน อาทิ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นต้น โดยการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย, อาเซียน 5, ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.7% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา ไข่ไก่ และสินค้าในหมวดประมง เป็นต้น สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม 293,350 คน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3,339.4% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร อินเดีย เยอรมนี สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย จำนวน 16.7 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน138.9%

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.2 จากระดับ 89.2 ในเดือน มี.ค. 2565 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.65% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.00% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 อยู่ที่ 60.6% ต่อจีดีพี ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ อยู่ที่ 0.3% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 228.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำคนไทย ต้องเจออากาศร้อนแบบสุดๆๆ ในเดือนเม.ย.นี้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC และประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #ร้อนจะตายอยู่แล้วจะร้อนไปถึงไหนและมนุษย์พันธุ์ใหม่จะปรับตัวอย่างไร ? ว่า ร้อนยังไม่จบสิ้น เอาระยะสั้นๆ