'สรท.'คาดส่งออกไทยปี 66 งานหินปัจจัยลบจ่อทุบหนัก

“สรท.” คาดปี 2566 ส่งออกไทยโตหน่วงที่ 2-3% เหตุปัจจัยลบรุมเร้าอื้อ จับตาจีนผ่อนคลายมาตรการโควิด-ดัชนี PMI สหรัฐฯ แผ่ว-เศรษฐกิจโลกชะลอ-ราคาน้ำมันพุ่ง-บาทแข็ง จ่อทุบหนัก พร้อมประเมินส่งออกปีนี้ยังโตได้ 7-8% วอน ธปท.คงดอกเบี้ยประคองภาคธุรกิจ รัฐทยอยขยับค่าไฟฟ้าแบบค่อยเป็นค่อยไป

7 ธ.ค. 2565 – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ราว 2-3% คิดเป็นมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตแบบอัตราหน่วง โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ประเทศจีนจะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด เพราะจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเรื่องการเดินทาง และการท่องเที่ยว และยังต้องจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ขณะนี้มีการปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกัน สรท.ยังกังวลปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และการแข็งค่าของเงินบาท โดยมองว่า สินค้าในกลุ่มอาหาร ยังมีโอกาสจะเติบโตได้ดีในปีหน้า และเป็นแรงส่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทย ในขณะที่สินค้ากลุ่มอื่น ยังค่อนข้างมีความเสี่ยง

สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในปี2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 7-8% โดยมองว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มจะชะลอตัว จาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การชะลอตัวของภาคการผลิตในสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และจีน 2.เงินบาทที่เคยเป็นแรงส่งสำคัญต่อภาคการส่งออก จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนพ.ย. และธ.ค. เงินบาทได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจากก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก และ 3.ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าธนาคารกลางหลายประเทศ ได้ออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของตลาดหลักเริ่มมีการชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และวัตถุดิบที่มีราคายังคงมีผันผวน ได้แก่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น

“ปัจจัยดังกล่าวทำให้การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีความท้าทายอย่างมากซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2565 คงเป็นไปได้ยากที่จะทำได้ถึงเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเดือนธ.ค.ปีก่อน เราได้อานิสงส์จากที่การขนส่งชิปสามารถเข้ามาได้ทัน จึงทำให้ในเดือนนั้นเราส่งออกรถยนต์ได้ค่อนข้างมาก จึงทำให้ยอดส่งออกทั้งเดือนธ.ค.ไปแตะถึง 25,000 ล้านดอลลาร์” นายชัยชาญ กล่าว

ทั้งนี้ สรท. ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญไปยังภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป 2. ด้านต้นทุน ขอให้ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป และขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป

3.ด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล และ 4. ด้านการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai-UK, Thai-Turkey, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) (อินเดีย) และความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งออกไทยบวก 4 เดือนติดลุ้นทั้งปีติดลบน้อยกว่า 1.5% 

“พาณิชย์”เผยส่งออก พ.ย.66 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.9% บวกต่อเนื่อง 4 เดือนติด โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 7.7% อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 1.7% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.4% ส่วนยอดรวม 11 เดือน เหลือติดลบ 1.5% คาดเดือน ธ.ค. ยังส่งออกได้ดี มีลุ้นทั้งปีติดลบน้อยกว่า 1.5% แน่นอน อาจจะลบ 1% หรือต่ำกว่าก็ได้

พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิ FTA  7 เดือนมูลค่า 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม ของปี 2566 มีมูลค่ารวม 46,183.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับอาเซียนยังครองแชมป์ตลาดที่มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกมากที่สุด ตามติดมาด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย อาเซียน-อินเดีย และภายใต้ RCEP มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 810.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแนะผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อทางการค้า