‘เอสซีจี’ เล็งปรับเป้ารายได้หลังศก.โลกยังไม่ฟื้น ห่วงไทยเจอปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงาน - ภัยแล้ง - ฝุ่น

เอสซีจี เผยเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น โชว์ผลกำไร 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ยังห่วงเศรษฐกิจโลก -อาเซียน กระทบเป้าหมายรายได้เติบโต 10% เล็งทบทวนใหม่ ชี้ไทยเจอปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน ราคาพลังงาน – ภัยแล้ง – และฝุ่น

27 เมษายน 2566 – นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี  เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน  โดยมีสัญญาณเชิงบวกจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ ที่ได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยว ทำให้การก่อสร้างมีการฟื้นตัว ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงเมืองท่องเที่ยวสำคัญ  ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูน วัสดุตกแต่ง และบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันจีนเปิดประเทศ ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สูงขึ้นเช่นเดียวกัน  

สำหรับผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้ 128,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน กำไร 16,526 ล้านบาท ซึ่งรวมกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics จากการรวมธุรกิจ SCGJWD Logistics ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 11,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,369 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้กำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษอยู่ที่ 4,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,446 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน ส่วนสินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีมูลค่า 923,725 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 44% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (ไม่รวมไทย)

อย่างไรก็ตาม ตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของเอสซีจี ยังค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากประเทศในภูมิภาคนี้ ส่วนหนึ่งเจอภาวะเงินเฟ้อและภาวะดอกเบี้ยสูง ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงสูง และกระทบต่อการใช้วัสดุก่อสร้าง ส่วนเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย   เช่นเดียวกัน

ส่วนภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวที่ดีแต่มีปัจจัยเสี่ยงพอสมควรถึง 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ราคาพลังงานผันผวนค่อนข้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และถ่านหิน ซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยในมุมมองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมค่อนข้างเป็นกังวล เป็นความเสี่ยง เพราะภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสูง ถ้าต้นทุนพลังงานสูง ก็จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ในระยะยาวได้

ความเสี่ยงด้านที่ 2 คือ ภัยแล้ง  ซึ่งอย่างที่ทราบไทยกำลังเจอกับภาวะ เอลนีโญ ที่จะทำให้ฝนทิ้งช่วง และอาจจะทำให้เกิดภัยแล้งข้ามปี  ซึ่งภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำเยอะ อาจจะได้รับผลกระทบ รวมถึงภาคเกษตรก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะกระทบกำลังซื้อจากประชาชนฐานราก และความเสี่ยงด้านที่ 3 คือ ฝุ่นพิษ ที่มีปัญหาและอาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยว หากไม่มีการแก้ไข

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทำให้มองว่า เป้าหมายการเติบโตที่วางไว้ 10% อาจจะทำได้ยาก เพราะธุรกิจของเอสซีจี นั้นส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ และภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศยังไม่ค่อยดีนัก 

“ขณะนี้เศรษฐกิจโลกบวกกับเศรษฐกิจอาเซียนมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย เพราะฉะนั้นเป้ารายได้เดิมที่ตั้งไว้จะโต 10% ไม่ง่าย ยอมรับว่าเหนื่อย โดยการปรับเป้าหมายรายได้คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจบครึ่งปีแรก”นายรุ่งโรจน์ กล่าว

 สำหรับแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 2 คาดว่าจะใกล้เคียงไตรมาสแรก (ไม่นับรวมรายการพิเศษ) มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนพลังงานบางอย่างลดลง เช่น ถ่านหิน และปรับปรุงเครื่องจักรจะเห็นผลในไตรมาส 2 นี้ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 3/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 41,774 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโตกว่า 14.2%

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 3/67 เท่ากับ 41,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 603 ล้านบาทจากปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,825 ล้านบาท

ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท

ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 637 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 เผชิญความท้าทายรอบด้าน

บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 2/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 43,085 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตกว่า 15%

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 2/67 เท่ากับ 43,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาทจากปีก่อน

บจ. มีผลประกอบการในไตรมาส 2 ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจน้ำมัน

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานงวดหกเดือนแรกปี 2567 มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโต ขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่ธุรกิจภาคบริการ อุปโภคบริโภค อีกทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น