ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นลดลง งวดเม.ย. อยู่ที่ระดับ 95.0 จากวันหยุดต่อเนื่องดึงยอดสั่งซื้อลดลง ชี้ผู้ประกอบการยังกังวลค่าไฟ-ราคาน้ำมัน วอนรัฐจัดสรรงบเป็นส่วนลดค่าไฟ พร้อมร่อนสมุดปกขาว เร่งรัฐบาลใหม่จัดตั้งนายก หวั่นเศรษฐกิจเกิดสุญญากาศ พร้อมเบรกใหม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ !
16 พ.ค. 2566 – นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของภาคการผลิต ที่เดือนเม.ย.มีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับอุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งมองไประยะต่อไป คาดการณ์ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ลดลงจากเดือนก่อนคาดอยู่ที่ระดับ 106.3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทย สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากอัตราค่าระวางเรือที่ทยอยปรับลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 การขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) และอเมริกาใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เช่น จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม
นายมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ส.อ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำสมุดปกขาวนำเสนอรัฐบาลใหม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญขณะนี้ คือ การเร่งจัดตั้งรัฐบาลและการตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงานล่าช้าจนถึงเดือนก.ย.-ต.ค. 2566 ไทยจะมีช่วงสุญญากาศ 4-5 เดือน อาจกระทบการใช้เงินงบประมาณปี 2567 และการจัดทำงบปี 2568 จึงอยากให้เร่งโดยเร็วเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า
“เรากำลังทำข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ คาดว่าตรวจรับได้ช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารอนุมัติ เพื่อยื่นสมุดปกขาวให้รัฐบาลใหม่ต่อไป ซึ่งยืนยัน ส.อ.ท.พร้อมทำงานกับทุกรัฐบาล เพราะมองความมั่นคงของชาติ ขณะที่กำลังมองไปที่การตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าได้นายกฯ เดือนก.ย.-ต.ค. งบประมาณปีนี้จะใช้อย่างไร อยากให้เร่งเร็วๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รีบๆ ตั้งเถอะ อย่าทะเลาะกันเลย อยากเห็นประเทศชาติเดินหน้า”นายมนตรี กล่าว
โดยประเด็นที่จะนำเสนอในสมุดปกขาว จะเป็นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยที่ขณะนี้ลดลง โดยการปรับโครงสร้างกฎระเบียบภาครัฐ 1,000 ฉบับ ที่เคยศึกษาไว้จะช่วยลดงบประมาณได้กว่า 90,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ ส.อ.ท.มีความกังวล เพราะพรรคการเมืองมีการหาเสียงไว้จะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดไปที่ 450-600 บาทต่อวัน จึงควรเน้นการเพิ่มค่าแรงจากทักษะฝีมือแรงงานมากกว่า ควบคู่กับการลดค่าครองชีพด้วย
“รัฐต้องเข้าใจค่าแรงขั้นต่ำต้องผ่านการพิจารณาโดยไตรภาคีที่ต้องมองหลายปัจจัย ถ้าค่าแรงขึ้นแต่ค่าครองชีพไม่ลด จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ค่าครองชีพกลับขึ้น ก็จะวนเวียนไปเช่นนี้ และที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด จะลดขีดแข่งขันของประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) และอย่าลืมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่แรงงานจากเพื่อนบ้าน ทำให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็ม 100% เพราะแรงงานเหล่านี้จะกันเงินราว 50% ส่งกลับไปยังบ้านเกิด”นายมนตรี กล่าว
ส่วนข้อเสนออื่นๆ คือ การสนับสนุนเปิดเสรีไฟฟ้า ที่เห็นตรงกับพรรคการเมืองหาเสียง เพื่อปรับโครงสร้างใหม่เป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะระดับนโยบายต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลเดิมทำได้ดีอยู่แล้ว ก็อยากให้สานต่อหรือต่อยอด เช่น การสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(บีซีจี) เพื่อยกระดับสินค้าส่งออกของไทยให้เป็นสินค้าสีเขียว การขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ไปยังภาคต่างๆ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือ(เอ็นอีซี) การเจรจาต่างประเทศ เพื่อขยายความร่วมมือการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ใหม่ๆ โดยเฉพาะเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ(จีซีซี) อเมริกาใต้ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ เป็นต้น
ด้านนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ยังมองการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแบบบวกว่าจะดำเนินการได้ และหากมองนโยบายพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีหลักการคล้ายกัน แต่ต่างวิธีการทำเท่านั้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ห่วงเพราะหากขึ้นเร็วแบบก้าวกระโดด จะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่รายใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายเพิ่มอยู่แล้วแต่ก็จะไปหนุนให้ใช้ระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมากขึ้น
“ส.อ.ท.ไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าแรง
แต่อยากให้ตัวเลขสอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงหวังว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะหารือกันบนข้อมูลก่อนตัดสินใจ ซึ่งหลายนโยบายเป็นประชานิยม ทางประธานส.อ.ท.ก็ระบุไว้ชัดว่าทำได้แต่ต้องพอดี ต้องมีแหล่งที่มาของเงินรายได้ ซึ่งส.อ.ท.เองยินดีให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน”นายวิวรรธน์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อดีตรมว.คลัง ตรวจการบ้าน 'ครม.มาดามแพ' ราคาก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน ควรลดตั้งนานแล้ว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์