
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หารือ ผู้ประกอบการฟู้ดทรัค รับฟังปัญหาอุปสรรค และหารือแนวทางการส่งเสริมธุรกิจระยะยาว พบ 2 ปัญหาหลัก : ขาดเงินทุนหมุนเวียน และข้อจำกัดด้านสถานที่จอดรถจำหน่ายสินค้า ขอภาครัฐให้ความช่วยเหลือ เบื้องต้น กรมฯ เตรียมหารือและขอความร่วมมือสถาบันการเงินออกโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการฟู้ดทรัคโดยเฉพาะ ผ่านการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
14 ส.ค. 2566 – นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การสนับสนุนธุรกิจฟู้ดทรัคมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เนื่องจากฟู้ดทรัคเป็นกิจการประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยที่ผ่านมา กรมฯ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจ ชี้แจงรายละเอียด และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของกฎหมายฯ แก่ผู้ประกอบการฟู้ดทรัค พร้อมเชิญสถาบันการเงินมาให้คำปรึกษาแนะนำถึงแนวปฏิบัติและเทคนิคการขอสินเชื่อให้ได้รับการอนุมัติ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการฟู้ดทรัคและนักลงทุนหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก
เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการและธุรกิจฟู้ดทรัคอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมชัดเจน กรมฯ ได้ลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและหารือการส่งเสริมธุรกิจ โดยมอบหมายให้กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมฯ ที่รับผิดชอบดูแลกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ พบปะหารือกับผู้ประกอบการโดยตรง ณ จุดจอดรถจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มของผู้ประกอบการฟู้ดทรัค เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาอุปสรรค และหารือแนวทางการส่งเสริมธุรกิจระยะยาว ก่อนนำเสนอกรมฯ เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สอดรับกับปัญหาอุปสรรคที่ได้รับฟังมา รวมทั้ง กำหนดแนวนโยบายการส่งเสริมธุรกิจให้มีความเข้มแข็งระยะยาว
จากการพูดคุยพบปัญหาอุปสรรคหลักของผู้ประกอบการฟู้ดทรัค คือ 1) ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการฟู้ดทรัคส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย เงินทุนมีจำนวนจำกัด และใช้เงินลงทุนเกือบทั้งหมดไปกับการตกแต่งรถให้สวยงามโดดเด่นเพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ตลอดจนซื้ออุปกรณ์สำหรับจำหน่ายอาหาร จึงไม่มีเงินสำรองหรือเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจระยะยาว และ 2) ข้อจำกัดด้านสถานที่จอดรถจำหน่ายสินค้า เช่น ทำเลที่จอดรถต้องไม่ผิดกฎหมายและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่ก่อนจึงจะทำการขายได้ ฯลฯ โดยผู้ประกอบการขอให้หน่วยงานภาครัฐให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่กำลังประสบอยู่
เบื้องต้น กรมฯ ได้กำหนดแนวทางเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ นำธุรกิจมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะหารือและขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมเพื่อออกโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับธุรกิจฟู้ดทรัคโดยเฉพาะ รองรับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิผ่านโครงการฯ ดังกล่าว 2) เจรจากับหน่วยงานพันธมิตรเอื้อเฟื้อสถานที่ให้รถฟู้ดทรัคจอดจำหน่ายสินค้า หรือ คิดค่าใช้จ่ายโดยให้ส่วนลดเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้ง กรมฯ จะจัดมหกรรมฟู้ดทรัคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า เป็นการเปิดตลาดใหม่ พบปะลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สร้างการจดจำแบรนด์ ตลอดจน เปิดเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจฟู้ดทรัค และการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น พร้อมเชิญชวนนักลงทุนหน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
และระหว่างวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2566 กรมฯ เตรียมนำผู้ประกอบการฟู้ดทรัค ออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ภายในงาน ‘อร่อยกู๊ด ฟู้ดทรัค’ ณ บริเวณลานจอดรถชั้น G อาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภายในงานได้รวบรวมผู้ประกอบการฟู้ดทรัคของไทยกว่า 30 ร้านค้า มาจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายสไตล์ให้นักชิมได้ลิ้มรสอาหารชั้นเลิศ รวมทั้ง ได้เชิญผู้บริหารธุรกิจฟู้ดทรัคทีมช้างมาถ่ายทอดประสบการณ์ วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง และโอกาสการเติบโตของธุรกิจฟู้ดทรัคแก่นักลงทุนหน้าใหม่หรือผู้สนใจ เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเข้าลงทุนในธุรกิจ และได้เชิญธนาคารไทยพาณิชย์มาให้คำแนะนำการจัดทำแผนธุรกิจ และการขอสินเชื่อเพื่อเป็นใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายการลงทุนของธุรกิจ
ขอเชิญชวนนักชิม ผู้สนใจ และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ‘อร่อยกู๊ด ฟู้ดทรัค’ วันพุธที่ 16 – วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 7.00 – 15.00 น. ณ บริเวณลานจอดรถชั้น G อาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม มิถุนายน 2566) มีผู้นำกิจการมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 10,021 สัญญา มูลค่ารวม 1,446 ล้านบาท ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4939 e-Mail : stro@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์เผยธุรกิจตั้งใหม่เดือน ต.ค. 6,647 ราย ทุนจดทะเบียน 2.7 หมื่นล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนตุลาคม 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทยมาแรงยอดจำหน่ายพุ่ง 1.67 แสนล้าน ส่งออกพุ่ง
กรมพัฒน์ฯ เผย ‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย’ โตต่อเนื่อง ปัจจัยสนับสนุนเพียบทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมกระเตื้อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้ปี 2565 ยอดผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศแตะ 1.67 แสนล้านบาท ขณะที่ชาวต่างชาติชื่นชอบความประณีต ดันยอดส่งออกทะยาน 8.12 หมื่นล้านบาท
พาณิชย์โชว์ตัวเลข 8 เดือนต่างชาติขนเงินลงทุนในไทย 65,790 ล้านบาท
8 เดือนปี ‘66 ต่างชาติลงทุนในไทย 65,790 ล้านบาทญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 21,981 ล้านบาท สิงคโปร์ 13,995 ล้านบาท และจีน 11,851 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,491 คน
ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นหนุนโรงแรมไซส์จิ๋วเกิดเพียบ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดผลวิเคราะห์ธุรกิจโรงแรมและที่พัก 7 เดือนแรกปี 2566 จัดตั้งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 จำนวน 184 ราย พบ บริษัทขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้าน ครองตลาด 95.04%
กรมพัฒน์ฯ เปิดให้บริการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดทางอิเล็กทรอนิกส์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจเต็มที่ เปิดให้บริการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration For Public Company Limited : e-PCL) ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
พาณิชย์เร่งเดินหน้าพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย รับมือการแข่งขัน
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ SMEs ของไทย