'เวิลด์แบงก์' หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.4%

“เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.4% ชี้การฟื้นตัวยังตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน ส่งออกชะลอ ลุ้นท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนช่วยประคอง ห่วงหนี้สาธารณะพุ่งกดดันการลงทุนภาคสาธารณะและเอกชน

3 ต.ค. 2566 – ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน ต.ค. 2566 โดยได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนและอุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัว ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 5% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.1% ส่วนในปี 2567 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 4.5% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.8%
ทั้งนี้ ธนาคารโลกยังได้เตือนถึงหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงระดับหนี้สินของบริษัทที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยระบุว่า หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงนั้นจะจำกัดการลงทุนทั้งภาคสาธารณะและภาคเอกชน โดยหนี้สินที่สูงขึ้นอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมให้กับกลุ่มธุรกิจภาคเอกชน

สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ 3.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% โดยเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวตามหลังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และการส่งออกที่ลดน้อยลงได้เพิ่มความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทย

“หลัก ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน แต่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มที่จะหดตัว 2.1% ในแง่ของดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ขณะที่การถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลชุดใหม่ที่ยืดเยื้อจะชะลอการลงทุนภาคสาธารณะและการลงทุนภาคเอกชนของไทย ดังนั้น ธนาคารโลกจึงหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2567 เหลือโต 3.5% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้เดือนเม.ย.ที่ 3.6%” รายงาน ระบุ

รายงาน ยังระบุอีกว่า การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มจะชดเชยปัญหาอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มแตะระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดภายในสิ้นปี 2567รวมทั้งยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อไทยจะปรับตัวลดลงสู่ 1.5% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยได้แรงหนุนจากราคาพลังงานโลกที่ลดลงและการตรึงราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น จากผลของราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการอุดหนุนด้านราคาพลังงาน ขณะที่คาดว่าหนี้สาธารณะในปี 2566 จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 60% และไทยจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ที่ 0.5% ต่อจีดีพีจากที่เคยขาดดุลติดต่อกันมา 2 ปี ในปี 2564 และ 2565

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ซัดรัฐบาล 'เศรษฐา' หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น

“ชนินทร์” ปชป. ซัดรัฐบาล “เศรษฐา” หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น ประจานไร้น้ำยา และจริยธรรม เหตุประมาณการ GDP ถูกปรับลด เตือนรากหญ้าตาย รายใหญ่ไปไม่รอด ประเทศหายนะ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ