บีโอไอไฟเขียวโครงการใหญ่ลงทุน 2.6 หมื่นล้าน ด้าน 'เอ็มจี'ขยายลงทุนรถอีวี

บอร์ดบีไอไอ ไฟเขียวโครงการใหญ่ลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท ลุยยกระดับไทยสู่ฮับการลงทุนในภูมิภาค พร้อมเคาะมาตรการกระตุ้นลงทุนปี 65 หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ – ดึงดูดการลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก

21 ธ.ค. 2564 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 26,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมด้านพลังงาน พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค เช่น บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เงินลงทุน 3,656.19 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ปีละประมาณ 6,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม ปีละประมาณ 50,000 คัน และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 65,805 ชิ้น รวมถึง บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด เงินลงทุน 3,434.36 ล้านบาท ในโครงการท่าเทียบเรือ D2 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ปีละประมาณ 812,000 ทีอียู โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี และบริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานอื่น ๆ ในระบบ COGENERATION

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุน ในปี 2565 ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีผลในวงกว้างต่อการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมาตรการนี้ครอบคลุมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (A1, A2 และ A3) และต้องเป็นโครงการที่มีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2565 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ตามประกาศของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีความร่วมมือ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (WIL) สหกิจศึกษา และทวิภาคี หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ 2.ความร่วมมือกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เป็นต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เช่น MedTech เป็นต้น โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บีโอไอ' บุกจีนดึงผู้ผลิตแบตเตอรี่ลงทุนไทย

บีโอไอ จัดคณะโรดโชว์ประเทศจีน ดึงผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตแบตเตอรี่ต้นน้ำระดับเซลล์ในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดของประเทศ ตามนโยบายของบอร์ดอีวี

เอ็มจี นำร่องเทคโนโลยี AI เข้ามาเริ่มใช้จริง ในงานมอเตอร์โชว์

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ เอ็มจี ในประเทศไทย

MG4 ELECTRIC ส่งรุ่น XPOWER ลงตลาดเมืองไทย

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย