'พิมพ์ภัทรา’ สั่งทุกหน่วยงานกระทรวงอุตฯหามาตรการลดฝุ่นพิษ

พิมพ์ภัทรา’ สั่งทุกหน่วยงานกระทรวงอุตฯ เร่งหามาตรการลดฝุ่นพิษ หวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ขอเคพีไอชี้วัดที่ชัดเจน พร้อมจ่อรื้อกฎหมาย – หาดอกเบี้ยต่ำช่วยสนับสนุน

18 ธ.ค. 2566 – น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้มีความเข้มข้นขึ้น มีดัชนีชี้วัดตรวจสอบชัดเจน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน จะมีทั้งมาตรการส่งเสริมทั้งด้านการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ องค์ความรู้ มาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่วนมาตรการระยะสั้น ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินหน้ามาตรการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้มีการดำเนินงาน อาทิ เดินหน้าสนับสนุนแก้ปัญหาการเผาอ้อย มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ ให้ตัดอ้อยสด ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ให้ชาวไร่อ้อย 1.4 แสนราย เริ่มจ่ายประมาณเดือนม.ค. 67 และต่อไปอยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรการออกระเบียบรับซื้ออ้อยไฟไหม้ให้เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เช่น ออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพีเอ็ม2.5 เตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค. 67 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล , ออกมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศ มอก.60335 เล่ม 2 (65)-2564 3. และมาตรฐานหน้ากากอนามัย รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณามาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ได้เข้มงวดกรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน จะถูกออกคำสั่งหยุดปรับปรุงแก้ไข และส่งดำเนินการทางกฎหมายต่อไป รวมทั้งได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล และได้ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมทั้งตรวจด้านฝุ่นละอองโรงงานเข้มข้นที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“ ได้ให้กรอ.นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เลือกจุดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการให้มากขึ้น และต่อเนื่อง และที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (เซมส์) ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดนี้จะถูกส่งมาแสดงผลผ่านระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลบนเว็บไซต์ของ กรอ. และบนมือถือแอลพริเคชั่น เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลการควบคุมการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา”น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ให้เข้มงวดตรวจสอบและเฝ้าระวังการประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่ง แร่และโรงประกอบโลหกรรม ให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว ยังให้คำปรึกษา และแนะนำ เพื่อให้สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้การประกอบการสร้างความเดือดร้อนด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อนจัดทะลุ 40 องศา! โฆษกรัฐบาลเตือนระวังฮีทสโตรก ฝุ่นภาคเหนือยังน่าห่วง

อากาศร้อนจัดหลายจังหวัดแตะ 40+ องศาฯ ‘จิรายุ’ เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ลดเสี่ยงฮีทสโตรก ขณะเดียวกัน ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือยังเกินมาตรฐาน จับตาค่าฝุ่นขยับเพิ่มใน 7 วันข้างหน้า

ปชน.ยกพลแถลงดาดฟ้ารัฐสภาซัดวิกฤตฝุ่นพิษคือวิกฤตภาวะผู้นำ

'ปชน.' แถลง 'วิกฤต PM 2.5 คือ วิกฤตภาวะผู้นำ' เสนอมาตรการ แก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง เชื่อ หาก กทม. ทำได้จะเป็นโรลโมเดลให้พื้นที่อื่น 'ส.ก.บางซื่อ' ยก3เรื่องตบหน้า 'ชัชชาติ' มีอำนาจเต็มสางปัญหา

'นิด้าโพล' ชี้นโยบายรถไฟฟ้าฟรี ไม่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “กรุงเทพฯเมืองในฝุ่น” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ