การพัฒนาชาติบ้านเมืองเป็นหน้าที่ของทุกคน

A man looks out at the skyline from the King Power Mahanakhon skyscraper observation deck as the sun sets in Bangkok on October 25, 2021. (Photo by Jack TAYLOR / AFP)

18 ก.ย. 2566 – คนไทยทุกคนรักบ้านเมือง อยากให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า เพื่อศักดิ์ศรีและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกคน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ต้องสร้างให้เกิดขึ้น คือพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งเติบโต ที่ต้องมาจากความคิดและการตัดสินใจร่วมกันของคนในประเทศ การวางแผนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดอย่างถูกต้อง และการทํางานหนักร่วมกันของคนในประเทศตามหน้าที่ของแต่ละคน การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน

ย้อนกลับไป 52 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เก้า ได้มองเห็นประเด็นนี้และให้โอวาสในความสำคัญของเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งชัดเจน ในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2514 ว่า

“ …การจรรโลงประเทศเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ผู้มีการศึกษาสูง ความรู้สูง ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ท่านทั้งหลายจะต้องใช้วิชาความรู้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างสังคม ซึ่งเป็นที่พึ่งที่อาศัยของทุกคน ให้เป็นสังคมที่มีความเจริญมั่นคงและก้าวหน้า ในการนี้ แต่ละคนต้องตั้งความปรารถนาอันสูงไว้ จะต้องเข้มแข็ง อดทน ไม่ย่อท้อ และไม่คลายจากความเพียร ที่สำคัญยิ่งจะต้องหาวิธีการที่จะรวมบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนี้ทุกคน พร้อมทั้งบรรดาผู้มีความรู้ ความสามารถและสติปัญญาอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมแรงกันโดยพรักพร้อม ผนึกกำลังเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังอันเเข็งแกร่งมั่นคง เมื่อพลังนั้นเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นปัจจัยสําคัญที่สุด สําหรับแผ้วทางอุปสรรคและปัญหายุ่งยากทั้งปวง เพื่อเปิดทางให้แต่ละคนได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติงานทุกๆอย่าง อย่างเต็มภาคภูมิ และดําเนินถึงจุดมุ่งหมาย คือความสุขความเจริญของชาติ ได้ดังประสงค์…”

ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ายั่งยืน ประเทศต้องมีความเข้มแข็งในสามด้าน คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สามด้านนี้แยกกันไม่ออกและเกื้อกูลซึ่งกันและกันทั้งในทางบวกและลบ การเมืองที่ดีนำมาสู่การใช้อำนาจและการทํานโยบายที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ทุกคนได้ประโยชน์ ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ทําให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น คนในประเทศมีกินมีใช้ มีโอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าอย่างทั่วถึง นำมาสู่ความสุข ความสมานฉันท์ และความมีเสถียรภาพของสังคม คนในสังคมเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ประเทศมี นําไปสู่การเติบโตของประเทศที่ยั่งยืน เป็นที่ยอมรับ

ตรงกันข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจะนําไปสู่นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เพื่อประโยชน์คนส่วนน้อยไม่ใช่ส่วนใหญ่ คนในประเทศไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ควร ความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น สังคมไม่มีความสุข คนในประเทศแตกแยก ประเทศขาดเสถียรภาพ ขาดโอกาส ไม่พัฒนา

คําถามคือทําไมบางประเทศทําได้ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง การเมืองเป็นระบบมีเสถียรภาพ นำไปสู่นโยบายเพื่อส่วนรวมที่มีเหตุมีผล เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนา ประชาชนได้ประโยชน์ ความเป็นอยู่ดีขึ้น สังคมมีเสถียรภาพ ประเทศมีศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับ แต่ก็มีหลายประเทศมากมายที่ทำไม่ได้ การเมืองขาดเสถียรภาพ เป็นการเมืองที่มุ่งรักษาอำนาจและผลประโยชน์คนส่วนน้อย ไม่ใช่ส่วนใหญ่ เศรษฐกิจไม่พัฒนาอย่างที่ควร ประชาชนส่วนมากไม่ได้ประโยชน์ ความเหลื่อมล้ำมีมากและความเป็นอยู่คนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้นเทียบกับประเทศอื่น สังคมอ่อนแอ มีความแตกแยก เป็นประเทศที่มีปัญหามาก ไม่ประสพความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

ถ้าถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างระหว่างประเทศที่ทําได้และทําไม่ได้ คําตอบคงมีมากทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่ที่ผมคิดว่าเป็นคําตอบสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาประเทศทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และเป็นคําตอบที่มักถูกมองข้ามคือ ความเข้มแข็งของ”ส่วนกลาง”ของสังคม หรือ Strength of the middle ที่ประเทศหรือสังคมต้องมี หมายถึงความเข้มแข็งของคนส่วนกลางของสังคม เป็นแนวคิดที่อาริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีก ศษวรรษที่ 4 ได้พูดไว้ว่าส่วนกลางของสังคมที่ใหญ่และเข้มแข้งจะช่วยทัดทานการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของชนชั้นนำของสังคมคือกลุ่มอีลีท(Elites)และคนกลุ่มล่าง ทําให้การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทํางานได้

ปัจจุบันคนส่วนกลางคือ ชนชั้นกลางหรือ the middle class ในระบบเศรษฐกิจ นี่คือกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาประเทศ ไต่เต้าเติบโตมาจากคนกลุ่มล่าง เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาส มีการศึกษา มีความรู้ เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่กําลังแรงงานและความเป็นเจ้าของกิจการ ยิ่งคนกลุ่มนี้มีมากและมีพลังทางเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศก็จะไปได้ไกล ยิ่งถ้ารวมตัวกันเป็นพลังที่แข็งแกร่งก็สามารถนำพาประเทศไปสู่จุดมุ่งหมายของการสร้างและพัฒนาประเทศที่ต่อเนื่องและมั่นคง ทั้งด้านการเมืองคือระบบประชาธิปไตย และด้านเศรษฐกิจคือระบบทุนนิยม นี่คือ ความสําคัญของส่วนกลางของสังคมหรือชนชั้นกลางของประเทศ

และสาเหตุที่ความเข้มแข็งของชนชั้นกลางสำคัญก็เพราะ หนึ่ง ชนชั้นกลางคือคนวัยทำงานที่ให้ความสำคัญกับการสร้างฐานะและครอบครัว มองการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ชนชั้นกลางที่เข็มแข็งมีพลังจึงเป็นแหล่งสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีความคิดริเริ่ม มีนวัตกรรม ที่จะขับเคลื่อนภาคธุรกิจในอนาคตและการเติบโตของประเทศ เป็นฐานผู้บริโภคสําคัญของเศรษฐกิจเพราะอำนาจซื้อที่ชนชั้นกลางมี และพลังทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางก็คือกันชนสำคัญต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้แย่ลงจนสังคมมีแต่คนที่รวยมากกับคนจน ซึ่งไม่ดีต่อการพัฒนาประเทศ

สอง ชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับค่านิยมที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในระบบประชาธิปไตย เช่น สิทธิส่วนบุคคล การแข่งขัน การบังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเมืองที่มีทางเลือก ในหลายประเทศ ชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญในภาคการเมือง ภาคประชาสังคม เป็นกําลังสำคัญขับเคลื่อนการปฏิรูป และเป็นพลังที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจให้รัฐบาลและฝ่ายการเมืองรับผิดรับชอบในสิ่งที่ทํา นำไปสู่วัฒนธรรมการเมืองของประเทศที่โปร่งใสและตอบสนองต่อส่วนรวม

สาม ชนชั้นกลางที่เติบโตและมีพลังจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพและรักษาความแน่นแฟ้นของสังคม ลดโอกาสที่แนวคิดสุดโต่งทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองจะบั่นทอนหรือทําลายความมีเสถียรภาพของสังคม เพราะชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับการรักษาระเบียบ กฏหมาย และการอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

นี่คือความสำคัญที่ประเทศต้องมีส่วนกลางหรือชนชั้นกลางที่เข้มแข้งและใหญ่ที่จะเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ ปัญหาและความท้าทายในปัจจุบันคือในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐ ชนชั้นกลางเริ่มอ่อนแอและมีบทบาทน้อยลงในพัฒนาการด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสังคมสูงวัยและความเหลื่อมลํ้าที่มีมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ที่ลดขนาดและบทบาทของชนชั้นกลาง รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่บั่นทอนโอกาสที่ชนชั้นกลางจะเติบโต เช่น นโยบายการศึกษา การไม่ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี มาตรการภาษีและการแข่งขันที่ไม่ธรรม สิ่งเหล่านี้บั่นทอนชนชั้นกลางและบทบาทที่ชนชั้นกลางควรมีในการพัฒนาประเทศ

ประเทศเราเองก็มีความท้าทายในเรื่องนี้ เห็นได้จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ ความเหลื่อมล้ำที่มีมาก ความยากจนที่เพิ่มขึ้น การทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรง และบทบาทธุรกิจขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ เป็นเริ่องที่รัฐบาลต้องตระหนักและต้องคิดแก้ไข คือ ปัญหาการสูญไป หรือ hallow out ของชนชั้นกลาง ทำให้คนที่มีความรู้ มีการศึกษาของประเทศไม่สามารถมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็น เป็นความสูญเสียที่ต้องแก้ไข เพื่อให้การพัฒนาชาติบ้านเมืองเป็นโอกาสและหน้าที่ของทุกคนอย่างแท้จริง

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน