เมื่ออายุยืนยาวขึ้นผู้สูงอายุควรมีชีวิตทำงานต่อไปอีกนานเท่าใด?

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หรือยุคที่ในจำนวนประชากรคนไทย 100 คน จะมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 20 คน นับเป็นจำนวน ประมาณ 14 ล้านคน ที่ภาครัฐกำหนดว่าเป็นประชากรที่อยู่นอกตลาดแรงงาน เป็นกลุ่มประชากรที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน และเป็นกลุ่มคนที่สุขภาพเริ่มถดถอยตามธรรมชาติ กลายเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ที่ต้องพึ่งพิงอาศัยผู้อื่น ซึ่งภาวะการพึ่งพิงก็จะยาวนานขึ้น เนื่องจากมีอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่อายุ 60 ปี (Life expectancy at 60) ยืนยาวไปอีกประมาณ 22 ปี  ในขณะที่ลูกหลานที่จะให้การพีงพาและอยู่ในวัยทำงาน จะมีจำนวนลดน้อยลงเนื่องจากอัตราเกิดของประชากรไทยลดต่ำลง ความสามารถของภาครัฐในการจ่ายสวัสดิการความช่วยเหลือจะต่ำลง เนื่องจากงบประมาณรายได้จากภาษีรายได้ลดลง แต่งบประมาณรายจ่ายสำหรับการจัดสวัสดิการของรัฐจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ จึงเป็นสังคมที่ตัวผู้สูงอายุ ครอบครัว รัฐบาล และภาคส่วนต่างๆ จะต้องมีการเตรียมการรองรับกับภาวะและภาระการพึ่งพิงที่สูงมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อคุณภาพชีวิตและความอยู่ดีมีสุขของคนไทยในทุกกลุ่มอายุต่อไป 

ภาวะการพึ่งพิงของผู้สูงอายุและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในสังคมสูงอายุ เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศที่มีประสบการณ์การเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ยาวนานกว่า ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายขึ้นมารองรับภาระการพีงพิงของประชากรสูงอายุอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การสร้างระบบประกันสังคม ระบบบำเหน็จบำนาญ ระบบสวัสดิการ รวมทั้งระบบกฎหมาย และกลไกทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ภาระทางการเงินและการคลังในการสนับสนุนระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการ ภายใต้จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต้องหันมาพิจารณาถึงการขยายโอกาสการทำงานแก่ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แนวคิดของการสูงอายุอย่างมีพลัง (Active aging) หรือการสูงอายุอย่างมีผลิตภาพ (Productive aging) โดยการกำหนดนโยบาย มาตรการ และเครื่องมือต่างๆในการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทั้งการกำหนดกฎหมายการจ้างงานผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณ รวมถึงการจูงใจภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุ การปรับปรุงเงื่อนไขการทำงาน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานและสถานที่ทำงานให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ตลอดจนการฝึกอบรมสร้างทักษะหรือเพิ่มเสริมทักษะ และการจัดหางานสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังได้มีการนำข้อมูลระยะยาวด้วยตัวอย่างซ้ำเกี่ยวกับการสูงอายุ (Longitudinal panel survey on aging) มาประมาณอายุคาดเฉลี่ยในชีวิตการทำงานอย่างมีสุขภาพ (Healthy working life expectancy – HWLE) เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ว่าควรจะส่งเสริมให้คนทำงานที่มีอายุสูงขึ้นให้มีชีวิตทำงานต่อไปอย่างมีสุขภาพดีได้อีกนานเท่าใด HWLE จึงเป็นดัชนีชี้วัดถึงโอกาสการมีงานที่ดีทำพร้อมทั้งมีสุขภาพดีสำหรับผู้สูงอายุโดยการวิเคราะห์ผ่านประสบการณ์หรือข้อมูลประวัติชีวิตการทำงานและสถานะภาพทางสุขภาพของผู้สูงอายุคนเดิมในทุกรอบสำรวจ 

ตัวอย่างการประมาณ HWLE ณ อายุ 50 ปี ในประเทศอังกฤษด้วยการใช้ข้อมูลระยะยาวของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจากโครงการ ELSA (the English Longitudinal Study of Ageing) 6 รอบสำรวจ (2002 – 2013) พบว่าในภาพรวม จำนวนปีที่คาดเฉลี่ยว่าคนอังกฤษอายุ 50 ปีจะมีชีวิตทำงานอย่างมีสุขภาพดี เท่ากับ 9.42 ปี (10.94 ปีสำหรับผู้ชาย และ 8.25 ปีสำหรับผู้หญิง) ในขณะที่อายุขัยคาดเฉลี่ย (Life expectancy) เท่ากับ 31.76 ปี (30.05 ปีสำหรับผู้ชาย และ 33.49 ปีสำหรับผู้หญิง) จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตทำงานที่สุขภาพไม่ดี (Unhealthy and in work) ที่อายุ 50 ปี คือ 1.84 ปี สำหรับจำนวนปีที่คาดเฉลี่ยว่าจะมีชีวิตทำงานอย่างมีสุขภาพดียาวนานที่สุด ได้แก่ ผู้ที่ทำธุรกิจของตนเอง เท่ากับ 11.76 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา เท่ากับ 11.27 ปี และผู้ที่มีอาชีพไม่ใช้แรงหรือไม่ใช่กรรมกร (non-manual occupations) เท่ากับ 10.32 ปี ตัวชี้วัด HWLE50 ที่ประมาณการในภาพรวมทั้งประเทศ เท่ากับ 9. 42 หรือ ผู้ที่ทำงานอายุ 50 ปี คาดว่าจะสามารถทำงานอย่างมีสุขภาพดีต่อไปจนถึงอายุ 59.42 หรือประมาณ 60 ปี ซึ่งเป็นอายุที่ยังต่ำกว่าอายุเกษียณที่สามารถรับบำนาญตามกฎหมายของอังกฤษที่กำหนดไว้ที่อายุ 66 ปี และในขณะเดียวกันรัฐบาลอังกฤษมีนโยบายที่จะขยายอายุเกษียณไปเป็น 68 ปีในปี 2035 แต่ได้เลื่อนไปบังคับใช้ในปี 2044 

การประมาณ HWLE ณ อายุที่กำหนด จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงจำนวนปีที่คาดเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่มีศักยภาพสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอย่างมีสุขภาพที่ดีไปได้นานเท่าใดจากอายุที่กำหนด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการกำหนดนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกเหนือจากการประมาณ HWLE ในอังกฤษ ยังมีการประมาณการ HWLE ในกลุ่มประเทศ OECD 14 ประเทศ 

ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้มีการดำเนินการสำรวจข้อมูลระยะยาวในการสูงอายุของคนไทยอายุ 45 ปีขึ้นไป มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันมีข้อมูลจากการสำรวจ 4 รอบ (2015, 2017, 2020, และ 2022) และมีโอกาสร่วมกับโครงการสำรวจข้อมูลระยะยาวด้านการสูงอายุที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศอาเซียน ศึกษาเปรียบเทียบ Working life expectancy (WLE) ของแต่ละประเทศ ได้แก่ สิงค์โปร์ มาเลเซีย เวียตนาม ฟิลิปปินส์ อินโดเนเซีย และไทย โครงการศึกษาเปรียบเทียบ WLE ได้เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2566 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2567 ผลการศึกษาของโครงการ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดประมาณการ HWLE ของไทย เพื่อประกอบการพิจารณานโนบายการจ้างงานผู้สูงอายุและการขยายอายุเกษียณ

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ดร. ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเงื่อนไข 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ รับเดือนละ 3 พัน

'รองโฆษกรัฐบาล' เผยเงื่อนไขคุณสมบัติ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันบาท เริ่มยื่นเรื่องได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.

รัฐบาล เน้นย้ำความปลอดภัยเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า ช่วงสงกรานต์ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นฟรี

รัฐบาล เน้นย้ำ ความปลอดภัยเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย ให้ ปชช.เดินทางสะดวกและปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ เปิดบริการให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นรถไฟฟ้า MRT ฟรี ระหว่าง 13 – 15 เมษายน

'กลุ่มผู้สูงวัย' จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ จ่อบุกทำเนียบฯหลังสงกรานต์

กลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุประมาณ 35 คน นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

'ผู้สูงวัย' นัดรวมตัวบุก พม. ทวงถามเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้า

ศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อทวงถามถึงมติเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567

รัฐบาล เร่งสร้างความตระหนักรู้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง