อุบัติเหตุซ้ำซาก(รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู) ประชาชนหาความปลอดภัยได้จากไหน???

5 ม.ค. 2567 – ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ต้อนรับศักราชใหม่ก็เกิดเรื่องระทึก กรณีเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 18.21 น. ล้อประคองของรถไฟฟ้ามหานคร “สายสีเหลือง” ได้หลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่ ก่อนถึงสถานีศรีเทพาประมาณ 50 เมตร สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ที่สัญจรและผู้ใช้งานรถไฟฟ้าถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย

จากการลงตรวจสอบเพิ่มเติมที่ศูนย์ซ่อมบำรุง พบว่าเป็นล้อประคองด้านล่างฝั่งขวา (ด้านนอกของคานทางวิ่ง) ของรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง หมายเลข YM 17 (ตู้หมายเลข YA117) หลุดออกจากแคร่ล้อ จำนวน 1 ล้อ ทำให้รถแท็กซี่ซึ่งได้รับความเสียหายบริเวณกระโปรงหน้าฝั่งขวาบุบ ไฟหน้าด้านขวาแตก กันชนหน้าแตกและบังโคลนหน้าฝั่งขวาบุบครูด ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ซึ่ง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้ชี้แจงกรณีล้อรถไฟฟ้าสีเหลืองหลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่ เกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคองเสียหาย ทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา ยืนยันมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามรอบ ขณะนี้กำลังตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมาเพื่อหาสาเหตุโดยละเอียด และบริษัทจะเร่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปหาสาเหตุและแนวทางป้องกัน เบื้องต้นได้ประสานบริษัทประกันเพื่อให้เข้าดูแลผู้ได้รับความเสียหายแล้ว

และจากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ โดยการตรวจสอบนั้นจะมีวาระประจำวัน วาระประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน ปัจจุบัน บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมาเพื่อหาสาเหตุโดยละเอียด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2567 รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่ได้ปรับรูปแบบการให้บริการ จากเดิมจะมีความถี่ชั่วโมงเร่งด่วนทุก 5 นาที และนอกชั่วโมงเร่งด่วนทุก 10 นาที เป็นทุก 30 นาที และนำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่ามีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน ซึ่งปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน

ส่วนแนวทางการป้องกัน งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน

คงต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2566 ก็เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ รถไฟฟ้าสายสีชมพู หลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหาย และเมื่อมีการติดตั้งระบบรางจ่ายไฟใหม่จึงได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในวันที่ 30 ธันวาคม 2566

อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเดียว (Monorail) ที่ให้บริการครั้งแรกในประเทศไทย ดังนั้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนในการใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลอย่างไรนั้น นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า จะมีการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าในอนาคตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าข้อดีของระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นระบบที่สามารถไต่ความลาดชันได้ดีกว่าเมื่อเข้าสู่ภายในเมือง ส่วนข้อเสียคือการใช้งานอะไหล่ซ้ำๆ เกิดการสึกหรอ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของโมโนเรล

พร้อมทั้งยังย้ำว่า “จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันว่าภาครัฐจะไม่มีการชดเชยรายได้ให้กับเอกชนในช่วงที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแก่ประชาชนฟรี แต่จะมีบทลงโทษเอกชนผู้รับสัมปทาน หากการตรวจสอบพบว่ามีการประมาทเลินเล่อจากการขับรถ, เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต นอกจากนี้หากโอเปอเรเตอร์ไม่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับความปลอดภัยจะถูกแบล็กลิสต์จากการประมูลครั้งถัดไป”

ขณะที่ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงการนำรถไฟฟ้าโมโนเรลมาใช้ในประเทศไทยเหมาะสมหรือไม่นั้น ยังไม่อยากให้ตัดสินว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลดีหรือว่าไม่ดี เนื่องจากทุกระบบมีจุดบอบบาง รถเฮฟวีเรลก็เคยเกิดเหตุกับระบบอาณัติสัญญาณมาแล้ว ดังนั้นเราต้องใช้เหตุการณ์ดังกล่าวในการเพิ่มความระมัดระวังในส่วนที่เคยเกิดเหตุให้มากๆ ต่อไป

ส่วนกรณีมาตรการการเฝ้าระวังความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเส้นอื่นๆ นั้น ในระยะยาวกรมการขนส่งทางรางได้เร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อใช้ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปลายปี 2567

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น การตรวจสอบสาเหตุต้องไม่จบเพียงเท่านี้ ต้องมีการหาสาเหตุเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง อาทิ เรื่องอุณหภูมิของประเทศไทยว่ามีผลต่อล้อหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำสมุดพกสำหรับตัดคะแนนบริษัทเอกชน หรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ ห้ามไม่ให้บริษัทที่ถูกตัดคะแนนร่วมประมูลโครงการของรัฐบาลที่มีในอนาคต เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาหลักเกณฑ์ภายใน 2 เดือน

“การจัดทำสมุดพก หรือการตัดคะแนนดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายอยากที่จะรักษาธุรกิจของตัวเองไว้ เพราะบริษัทที่เข้ามารับงานส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ หากถูกแบล็กลิสต์ไปจะกระทบต่อธุรกิจโดยตรง อาจถึงกับล้มละลายได้เลย เพราะฉะนั้นหากมีกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจน เอกชนก็จะมีความรอบคอบ และความใส่ใจมากขึ้น” นายสุริยะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ต้องนำมาทบทวนถึงแนวทางในการดูแลการก่อสร้างและการให้บริการโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ต้องมีมาตรการทางวิศวกรรมและการจัดการความปลอดภัยดีพอ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

นับว่าโชคดีที่การเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่มีผู้เสียชีวิต แต่จะดีมากกว่าหากไม่เกิดอุบัติเหตุใดๆ กับระบบขนส่งสาธารณะอย่างเช่นรถไฟฟ้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ได้ฤกษ์ ‘สุริยะ’ เดินเครื่องเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ปักหมุดให้บริการปี 71

‘สุริยะ’กดปุ่มเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตั้งเป้าให้บริการปี 71

นายกฯ ตรวจหมอชิต ชมพัฒนาดีขึ้น คราวหน้าจะย่องมาอีกไม่บอกเวลา กลัวเจอจัดฉาก

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม

'สุริยะ' โชว์ราคาตั๋วเครื่องบิน 3 เส้นทางยอดนิยมช่วงสงกรานต์ปรับลดสูงสุด 14%

‘สุริยะ’ เผยลดค่าตั๋วเครื่องบิน - เพิ่มเที่ยวบินในประเทศช่วงสงกรานต์67 ชี้ 6 สายการบินรวมใจเพิ่ม 104 เที่ยว รวม 17,974 ที่นั่ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน ลุยคุมเข้มราคาของทุกแอร์ไลน์พร้อมเผยผลเปรียบเทียบ 3 เส้นทางยอดฮิตช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ชี้ ‘กรุงเทพ – ภูเก็ต’ ค่าตั๋วลดลงเกือบ 10% ส่วนเชียงใหม่หั่นลงกว่า 14%