ธกส. โชว์ยอดเกษตรกรพักหนี้แล้ว 7 แสนราย ปักธง NPL เหลือไม่เกิน 5%

“ธ.ก.ส.” กางยอดเกษตรกรรายย่อยแห่เข้าโครงการพักหนี้แล้ว 7 แสนราย ตกค้างอีกเฉียด 1 ล้านราย ยันเร่งดำเนินการให้จบภายใน 3 เดือน พร้อมแจงเงินฝากยังแข็งแกร่ง เดินหน้าสางหนี้เสีย ปักธงสิ้นปีบัญชี 2567 กดหนี้เน่าเหลือไม่เกิน 5% เด้งรับนโยบายรัฐบาล ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม

29 ม.ค. 2567 – นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย เป็นเวลา 3 ปี ว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรสอบทานสิทธิ์และเข้าสู่กระบวนการนัดลงนามท้ายสัญญาแล้วทั้งสิ้น 1.7 ล้านราย ซึ่งภายใต้จำนวนดังกล่าวได้มีการลงนามปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ประมาณ 7 แสนราย โดยขณะนี้ยังเหลือเกษตรกรอีกราว 9.99 แสนราย ที่จะต้องเร่งดำเนินลงนามท้ายสัญญา เพื่อให้การจัดทำนิติกรรมสมบูรณ์ภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ ยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังติดปัญหาเรื่องความล่าช้าในมิติของนิติกรรมสัญญา ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงหน่วยงานอื่นด้วย เช่น กรมที่ดิน และยังมีปัญหาเรื่องผู้ค้ำประกัน เนื่องจากการค้ำประกันของ ธ.ก.ส. นั้น มีทั้งการค้ำประกันแบบบุคคล และการค้ำประกันแบบกลุ่ม ที่บางกรณีผู้ค้ำประกันหาตัวไม่เจอ หรือบางกรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิตไปแล้ว ตรงนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อที่จะให้ลูกค้าได้รับสิทธิ์ตามโครงการพักหนี้ของรัฐบาล
“ธ.ก.ส. กำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกค้าอีก 9.99 แสนรายได้รับสิทธิ์ทั้งหมด เพราะว่าลูกค้ากลุ่มนี้ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วและมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ยังติดในเรื่องนิติกรรมสัญญา เช่น บางกรณีเปลี่ยนผู้ค้ำประกัน หรือบางกรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิตไปแล้ว บางกรณีสัญญาประธานขาดอายุไปแล้ว ก็ต้องไปไล่ดำเนินการทีละส่วน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการคลีนซิ่งข้อมูลครั้งใหญ่ของ ธ.ก.ส. ไปด้วย” นายฉัตรชัย กล่าว

สำหรับกลุ่มหนี้เสียนั้น ปัจจุบันมาตราการช่วยเหลือของ ธ.ก.ส. ยังมีอยู่ ดังนั้นลูกค้าในกลุ่มนี้ก็สามารถเข้าโครงการช่วยเหลือของธนาคารได้เลย ซึ่งมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายคิดเป็นวงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นพบว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้าโครงการไปแล้ว 90% กว่า ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มตกค้างที่ตอนนี้ต้องถือเป็นการดูใจแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายฉัตรชัย กล่าวถึงสถานการณ์เงินฝากของ ธ.ก.ส. ว่า ยืนยันว่าเงินฝากของธนาคารไม่ได้ลดลง โดยปัจจุบันมียอดเงินฝากอยู่ที่ราว 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้เป็นการบริหารสภาพคล่องให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้เตรียมสภาพคล่องไว้สูงมาก ซึ่งหลังจบปีบัญชี 2566 (มี.ค. 2567) ค่อยมาพิจารณากันอีกทีว่าภายใต้ยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส. จะมีการวางเป้าหมายเงินฝากสำหรับปีบัญชี 2567 (เม.ย.2567-มี.ค.2568) ไว้ที่เท่าไหร่

“ถามว่าเงินฝากตอนนี้น้อยลงกว่าปีที่แล้วหรือไม่ คำตอบ คือ ใช่ น้อยลง แต่มาจาก 2 เหตุผล คือ 1. นโยบายในการบริหารสภาพคล่อง และ 2. ช่วงที่ผ่านมามีการใช้เงินตามโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาล รวม ๆ กันประมาณ 9 หมื่นกว่าล้านบาท ดังนั้นเงินฝากที่ลดลงก็เป็นไปตามแผนการใช้เงินที่วางไว้ ไม่ได้ลดลงเนื่องจากประสิทธิภาพ และปัจจุบัน ธ.ก.ส. ไม่จำเป็นจะต้องมีสภาพคล่องสูงขนาดนั้น ขณะเดียวกันตัวผลิตภัณฑ์เงินฝาก อาทิ สลากออมทรัพย์ถุงทอง ตอนนี้ขายได้ 9 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว จากวงเงิน 1 แสนล้านบาท และเร็ว ๆ นี้เตรียมจะออกสลากออมทรัพย์ตัวย่อย ๆ อีก 2-3 ตัว” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5.38% ของสินเชื่อรวม ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ภายในของธนาคารวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในสิ้นปีบัญชี 2567 หนี้เสียจะอยู่ต่ำกว่า 5% ซึ่งตอนนี้ใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว และจากนี้ไปจะเป็นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ที่ในปีบัญชีถัดไปจะบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในระดับไม่เกิน 4% ซึ่งภายใต้เป้าหมายดังกล่าว หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมุ่งลดให้หนี้เสียต่ำลงไปเรื่อย ๆ แต่เป็นการบริหารจัดการให้หนี้เสียไม่ผันผวนเกิน 4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ธนาคารมีความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดการผันผวนของหนี้เสียที่พร้อมจะปรับขึ้นได้ตลอด จากผลกระทบในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร

อย่างไรก็ดี กรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมหารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือ แต่ ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยหากโจทย์ของรัฐบาลออกมาว่าให้เป็นการช่วยลดภาระของประชาชน ธ.ก.ส. ก็พร้อมที่จะออกอีกหลาย ๆ มาตรการเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งมองว่าน่าจะดีกว่าแค่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหมาะกับสัญญาเงินกู้ที่มีวงเงินสูง เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้เชิงพาณิชย์ แต่สัญญาเงินกู้ของ ธ.ก.ส. นั้นส่วนใหญ่วงเงิน 1-2 แสนบาท ทำให้การลดดอกเบี้ย 0.15 สตางค์ หรือ 0.25 สตางค์ ไม่ได้มีผลต่อเงินงวดมากนัก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมชัย' จับตา 'ซุปเปอร์แอป' ถ้าใช้งบทำแล้ว หาแหล่งเงินไม่ได้ จะรับผิดชอบอย่างไร

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. และอดีต รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ซุปเปอร์ แอ๊ป นับหนึ่งหรือยัง ว่า

อดีตคน ธกส. เคยร่วมแก้กฎหมาย อธิบายชัดเจน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า #เศรษฐาซื้อเวลาเงินหมื่นสุดท้ายทำไม่ได้ แปลกใจไหมครับ ทำไมวันที่นายเศรษฐาแถลงเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท

พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการ รัฐบาลเล่นกลแจกเงินหมื่น หาเสียงนิยมให้พท.

'จตุพร' ซัดรัฐบาลเล่นกลซ่อนเจตนากู้เงินแจกหมื่น เชื่อปั่นความหวังเคลมดิจิทัลหาเสียงนิยมให้เพื่อไทย แต่ ปท.ชิบหายแบกหนี้ก้อนโต ชี้พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการเท่านั้น

เย้ยพรรคร่วมรัฐบาล ยืนแถลงหนุน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แค่ลมพัดไหว ไม่มีอะไรในกอไผ่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โพสต์เฟซบุ๊กว่า

'สร.ธกส.' ร่อนหนังสือจี้ 'ผจก.ธกส.' ทำตามข้อเสนอต่อนโยบาย Digital wallet 3 ข้อ

นายประหยัด ธรรมขันธ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำหนังสือที่๑๓๕/ ๒๕๖๗ ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ถึง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เรื่อง ข้อเสนอต่อการดำเนินนโยบาย Digital wallet