ผู้ผลิตสินค้าไทย อ่วมสินค้าจีนตีตลาด

15 ก.พ. 2567 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายค้าปลีกปี 2567 เติบโตชะลอตัวลงจากปีก่อน หรืออยู่ที่ราว 3.0% (YoY) มีมูลค่าประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท โดยยังคงมีแรงหนุนมาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับผลของราคาสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะราคาสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัวที่น่าจะยังปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสำรวจผู้ประกอบการค้าปลีก พบว่า กว่า 60% ของธุรกิจมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า (การสำรวจ Retailer Sentiment Index: RSI เดือนมกราคม 2567 ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย)

ยอดขายค้าปลีกในไทยเติบโต แต่ผู้ผลิตสินค้าไทยต้องแข่งขันรุนแรงกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งในปี 2566 ไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนมูลค่า 469,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% (YoY) หรือมีสัดส่วนราว 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด

โดยสินค้าที่จีนเข้ามาตีตลาดส่วนใหญ่มีทั้งกลุ่มที่เป็นของกินและของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนมูลค่าประมาณ 43.3% ของมูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดจากจีน รองลงมา ได้แก่ ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง 10.0% เสื้อผ้าและรองเท้า 9.3% รวมถึงเครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1% เป็นต้น

การเข้ามาตีตลาดของสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน กดดันความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าในไทย จากการแข่งขันของจีนส่งผลให้ผู้ผลิตไทยในหมวดสินค้า เหล่านี้เผชิญกับการแข่งขันที่ลำบากขึ้น โดยจะเห็นได้จากสินค้านำเข้าจากจีนบางรายการมีราคาถูกกว่าไทย เช่น สินค้าแฟชั่น (รองเท้า กระเป๋า) และผักผลไม้สดและปรุงแต่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ กำลังการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ถูกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่ของกิน (Non-food) ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่น (รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย) และเฟอร์นิเจอร์ อยู่ที่เพียง 30-45%

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ตลาดค้าปลีกในภาพรวมจะยังเติบโต แต่การแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าไทยจะยังอยู่ในสถานการณ์การดำเนินธุรกิจที่ยากลำบาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้