'ดร.นงนุช' เตือนหากวิกฤตจริงจะไม่เหลือเครื่องมือให้ใช้หากนโยบายการเงินไร้อิสระ!

22 ก.พ.2567 - รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ โพสต์เฟซบุ๊กในรูปแบบบทความเรื่อง “ความเป็นอิสระระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง มีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ” ระบุว่า

นักเศรษฐศาสตร์เราถูกสอนกันมาว่า นโยบายการคลังและนโยบายการเงินต่างก็สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาหนี้ล้นและความไม่มีเสถียรภาพของราคาในภาคเศรษฐกิจได้

วันนี้จะขอกลับมาเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์อีกครั้งนะคะ วันนี้จะว่าด้วยวิชา Economic Policy หรือนโยบายเศรษฐกิจ

หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจนโยบายการคลัง ได้แก่ การเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ เพื่อให้มีการจ้างงานแรงงานในการก่อสร้าง ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศ, การเร่งการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า บริการ เพื่อให้เกิดการซื้อขายหมุนเวียนของเม็ดเงิน จนกระทั่งร้านค้า-บริษัทยังคงมีรายได้และจ้างแรงงานเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ, การลดภาษีเงินได้ เพื่อให้คนมีรายได้มาใช้จ่ายบริโภคได้มากขึ้น, การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดราคาสินค้าและบริการ ช่วยให้ค่าครองชีพต่ำลง และการลดค่าธรรมเนียม เพื่อเร่งให้เกิดธุรกรรม

แน่นอนว่านโยบายลงทุนและใช้จ่ายมาพร้อมคำถามว่า เงินที่จะใช้มาจากไหน หนี้ที่ก่อเอาอะไรจ่าย ใครเป็นผู้รับภาระภาษีที่เอาไปใช้จ่าย

แต่นโยบายลดภาษีเงินได้ เป็นการทำให้ผู้เสียภาษีมีรายได้คงเหลือเพิ่มขึ้นหลังหักภาษี ทำให้ผู้เสียภาษีมีแรงจูงใจในการทำงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สร้างผลผลิตให้กับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์จ่ายภาษีเดิม ก็มีแรงจูงใจที่จะทำงานมากขึ้น เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเดิม ....ผู้ที่มีรายได้ลดลงหากใช้นโยบายนี้ ก็คือภาครัฐ

ในขณะที่ การลดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการลดค่าธรรมเนียม ทำให้มีการใช้จ่ายผ่านภาคประชาชนมากขึ้นอย่างทั่วถึง ทุกคนต้องกินต้องใช้ค่ะ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง แต่ปัญหา คือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น อาจไม่ได้นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะในกรณีรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ลดลง แต่ผู้ขายยังคงมีรายได้ต่อชิ้นสินค้าที่ขายได้เท่าเดิม เพียงแต่อาจจะขายได้ปริมาณมากขึ้น ทำให้อาจจะมีการจ้างงานมากขึ้น
เงินเฟ้อจะตามมาเสมอไม่ว่ารัฐจะใช้นโยบายใช้จ่าย/ลงทุนรือนโยบายภาษี

นโยบายการเงิน ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยหวังว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารระยะสั้นจะส่งผลต่อต้นทุนของธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อตามได้

อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยไม่ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้สูงเนื่องจากระบบเศรษฐกิจเปราะบาง ต้นทุนของเงินให้สินเชื่อก็ไม่อาจลดได้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อก็จะไม่ลด ผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อระบบเศรษฐกิจก็อาจจะแทบไม่มีนัยสำคัญ ในขณะที่อาจทำให้เกิดเงินทุนไหลออกได้

ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียนสถานการณ์ที่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มีผลให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจว่า Liquidity Trap

การเพิ่มปริมาณเงินในระบบผ่านการซื้อขายพันธบัตร/ตราสารหนี้ และการลดสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสียงขั้นต่ำ ต่างก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น แต่ทั้งสองวิธีนี้จำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง
เพราะเมื่อปริมาณเงินเพิ่ม เงินเฟ้อก็จะตามมา และเป็นเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปทานเงิน ซึ่งนอกจากจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงแล้ว ค่าเงินก็จะอ่อนลงด้วย เพราะจะมีเงินทุนไหลออกจากการคาดการณ์ว่าค่าเงินจะลดลงในอนาคต

เมื่อมีเงินไหลออก มากกว่าเงินที่เพิ่มเข้าระบบผ่านมาตรการทางการเงิน จะทำให้กระทบต่อค่าเงินบาท ความมั่นคง/เสถียรภาพของระบบการเงิน และส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

การใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จึงมักจะต้องทำอย่างระมัดระวัง ใช้เมื่อจำเป็น ใช้เมื่อนโยบายการคลังไร้ผลในภาวะวิกฤต

จะเห็นว่าไม่ว่าจะใช้นโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงรู้กันว่า ถ้าอัดฉีดเงินผ่านนโยบายการคลังแล้ว นโยบายการเงินต้องพยายามควบคุมไม่ให้ปริมาณเงินในระบบมากเกินไป เพื่อไม่ให้มีเม็ดเงินในระบบมากเกินจนเกิดการเก็งกำไรในตลาดทุนและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดเงินเฟ้อที่ไม่ได้มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นหรือการพัฒนาประเทศ

ไม่ใช่เพียงอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลต่อต่าเงินนะคะ ปริมาณเงิน อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงินต่างก็ส่งผลต่อค่าเงินได้เช่นกัน ซึ่งค่าเงินนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การนำเข้า-ส่งออก และเม็ดเงินลงทุนในตลาดทุน

ในแต่ละบริษัท-องค์กร จะมีหน่วยงานที่จัดหารายได้และบริหารรายจ่าย กับหน่วยงานที่ควบคุมบัญชี ปริมาณเงินขององค์กร ดูแลสัดส่วนทุนและหนี้ให้สมดุล และทั้งสองหน่วยงานก็ควรเป็นอิสระต่อกัน เพื่อป้องกันการสมรู้ร่วมคิด สร้างปัญหาทางการเงินภายหลัง

ถ้านโยบายการคลังและการเงินต่างก็ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกัน ในเวลาที่ยังไม่วิกฤต แล้วถ้าเวลาวิกฤตมาถึง เราจะมีเครื่องมืออะไรที่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น

'แบงก์ชาติ' ชี้เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นต่อเนื่อง แต่จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยง

“แบงก์ชาติ” ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ฟื้นต่อเนื่อง เคาะจีดีพีโต 4.4% ระบุมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต หนุนบริโภคโต ห่วงสงครามฮามาส-อิสราเอล กระทบราคาน้ำมัน แนะทบทวนมาตรการดูแลราคาน้ำมัน หวั่นเป็นภาระกองทุนน้ำมัน-ภาคการคลัง

'รศ.ดร.นงนุช' ชี้สิทธิมนุษยชนต้องมีขอบเขตแนะให้เจตนาเป็นตัวตัดสินโทษไม่ใช่อายุ

รศ.ดร.นงนุชตั้งคำถามปมกราดยิงที่พารากอน พร้อมวิเคราะห์ปัญหาเด็กและสังคมผู้ปกครองในปัจจุบัน ระบุชัดสิทธิมนุษยชนต้องมีขอบเขตให้เจตนาเป็นตัวตัดสินโทษไม่ใช่อายุ