แนวโน้มไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประเทศไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากันมายาวนาน จีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับที่ 2 (12%) และนำเข้าจากจีนเป็นอันดับที่ 1 (24%) ซึ่งไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด การขาดดุลได้ทยอยเร่งตัวขึ้นจนล่าสุด ณ สิ้นปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ -36.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

22 มี.ค. 2567 -สินค้าสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน คือ เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (33.8%) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล (14.7%) รวมถึงสินค้าประเภทรถยนต์ (7.5%) ขณะที่สินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีน คือ ผลไม้สด (35.8%) ยางพารา (23.4%) และไม้ (7.8%) ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรกรรมที่มูลค่าไม่สูงเพียงพอที่จะชดเชยมูลค่าสินค้าที่ขาดดุลได้

การขาดดุลสินค้าประเภทรถยนต์เร่งตัวขึ้น เมื่อเทียบโครงสร้างสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนในปี 2560 กับ 2566 พบว่าไทยขาดดุลสินค้าประเภทรถยนต์กับจีนเพิ่มขึ้นจาก 0.3% มาอยู่ที่ 7.5% ของสินค้าไทยทั้งหมดที่ขาดดุลกับจีน โดยสัดส่วนที่ขาดดุลมาจากรถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (60.3%) และส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์ (27.2%) ซึ่งคาดว่าเกิดจากการเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัทรถยนต์จากจีน ซึ่งในระยะต่อไปไทยมีแนวโน้มที่จะขาดดุลสินค้าประเภทรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากบริษัทรถยนต์จีนหลายแห่งได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงคาดว่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนผลไม้เป็นสินค้าที่ไทยเกินดุลกับจีนเป็นอันดับที่หนึ่งแทนที่ยางพารา ในอดีตยางพาราเป็นสินค้าที่ไทยเกินดุลกับจีนเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่เนื่องจากความต้องการที่ลดลงประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนเองได้ปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยส่งออกยางพาราไปจีนลดลง  ขณะที่ความต้องการผลไม้จากจีนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผลไม้กลายเป็นสินค้าที่ไทยเกินดุลกับจีนเป็นอันดับที่ 1 แทนที่ยางพารา โดยจีนนำเข้าผลไม้จากไทยเป็นอันดับ 1 (มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 37%) ซึ่งทุเรียนคิดเป็นสัดส่วนของการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีนที่ 14% อย่างไรก็ตาม ไทยมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้มีการปลูกและพัฒนามากขึ้น

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการค้าไทยกับจีน การขาดดุลการค้ากับจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจาก 1.สินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่มีการใช้เทคโนโลยีหรือการประหยัดจากขนาดการผลิต ขณะที่สินค้าที่ไทยเกินดุลเป็นสินค้าเกษตรจำพวกผลไม้ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันเริ่มสูง เช่น ทุเรียนจากเวียดนามที่เริ่มเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนมากขึ้น

2. สินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนทะลักเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เนื่องจากจีนมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต และสินค้าจากจีนได้รับข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งกำลังมีการทบทวนข้อยกเว้นดังกล่าว

3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าขั้นกลางที่เคยส่งออกไปจีนได้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงบริษัทในจีนได้มีการออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแนวโน้มการขาดดุลการค้ากับจีนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทยในภาพใหญ่ที่ไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในระยะข้างหน้า อย่างเช่นเวียดนามที่มีอุตสาหกรรมการผลิต semi-conductor ดังนั้น หากไทยยังไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทิศทางการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้านอกจากจะมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงแล้ว การเกินดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลงจะเป็นตัวลดทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอีกด้วย 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้