'สรรพากร' คอนเฟิร์มรีดภาษีขายหุ้น 0.1% หรือล้านละ 1 พันบาท 'FETCO' ไม่เห็นด้วย

“สรรพากร” ลุยศึกษารีดภาษีขายหุ้น เรต 0.1% ชูล้านละพัน ถือว่าไม่มาก ระบุไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่เว้นให้มาแล้ว 30 ปี จ่อชงคลังพิจารณาเร็ว ๆ นี้ มั่นใจไม่กระทบตลาดหุ้นไทย หลังโควิดบุก 2 ปี ดัชนียังพุ่ง

6 ม.ค. 2565 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเร่งศึกษาการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งกฎหมายของกรมสรรพากรมีอำนาจให้จัดเก็บภาษีดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการยกเว้นการจัดเก็บมา 30 ปี ตอนนี้ต้องนำมาพิจารณาแนวทางการจัดเก็บให้มีความเหมาะสมที่สุด โดยทางธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เพื่อศึกษาแนวทางเพื่อให้มีรูปแบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ในโลกนี้การจัดเก็บภาษีหุ้นมี 2 รูปแบบ คือ 1. การเก็บจากส่วนต่างของกำไร (แคปปิตอล เกนท์) ก็มีข้อดี แต่การดำเนินการยุ่งยาก เป็นภาระกับผู้เสียภาษีมากกว่า หากกรมสรรพากรดำเนินการรูปแบบนี้ก็ต้องไปออกระเบียบและแก้กฎหมายใหม่ และ 2. การเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้น ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จัดเก็บวิธีการนี้ ล่าสุดมาเลเซีย เริ่มต้นวันแรกของตลาดหุ้นปี 2565 ก็ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นเป็น 0.15% จาก 0.1% มีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีหุ้น แต่สิงคโปร์มีการเก็บภาษีอากรแสตมป์จากการซื้อขายหุ้น

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด โดยในต่างประเทศจัดเก็บทั้ง 2 ขา ทั้งขาขายและขาซื้อ แต่ในส่วนของไทยที่ศึกษากันจะเก็บจากการขายหุ้นฝั่งเดียวเท่านั้น ซึ่งภาระไม่ได้เยอะ โดยมีอัตราจัดเก็บที่ 0.1% เท่ากับหากมีการขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีเพียง 1 พันบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้มาก

“จะมีการเสนอแนวทางการศึกษาทั้งหมดให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการจะเริ่มเก็บต้องดูสภาพตลาดหุ้นด้วย โดยต้องยอมรับว่าแม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดหุ้นไทยก็มีดัชนีเพิ่มขึ้น และมูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นมองว่าหากมีการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก” นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การเก็บภาษีหุ้นไม่ได้มุ่งหวังเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีด้วย เพราะเป็นการเสียในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน การซื้อขายอสังหาริมทรัยพ์ ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งหมดไม่ได้รับการยกเว้น ซึ่งภาษีหุ้นก็อยู่ในหมวดธุรกิจเฉพาะที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% แต่ทีผ่านมาได้รับการยกเว้นมาเป็นเวลา 30 ปี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ระบุว่า ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีจากการขายหุ้น ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเพิ่มฐานรายได้ให้ภาครัฐ และการเก็บภาษีจากการขายหุ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมามีการยกเว้นให้มา30ปีแล้ว ตอนนี้ก็มาพิจารณานั่งดูว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกมีการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น เก็บจากอากรแสตมป์และเก็บภาษีจากกำไรจากการขายหุ้น โดยได้มอบให้กรมสรรพากรไปดูว่าการจัดเก็บตรงนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าคณะกรรมการ FETCO จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) เพื่อหาข้อสรุปในการทำหนังสือในนาม FETCO ไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงมุมมองให้รับทราบ

“เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวและส่วนตัวก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากช่วงเวลาเก็บภาษีจากการขายหุ้นยังไม่เหมาะสม แม้จะเห็นใจรัฐบาลที่ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองมาตรการดังกล่าวในระยะยาวอาจกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดทุน ถือเป็นการลดประสิทธิภาพของตลาดทุนไทยให้น้อยลง เพราะปกติแล้วสภาพคล่องคือจุดขายหลักของตลาดหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยก็มีสภาพคล่องโดดเด่นสุดในอาเซียน จึงไม่อยากเห็นการออกมาตรการที่จะส่งกระทบต่อสภาพคล่องและไม่เห็นด้วยที่จะออกมาในปีนี้” นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้จริง เบื้องต้นประเมินว่าผลกระทบโดยรวมจะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ตลาดหายไปราว 20-30% โดยกลุ่มนักลงทุนที่จะกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเนื่องจากต้นทุนในการซื้อขายหุ้นปกติก็สูงกว่า 1 เท่าตัวของนักลงทุนในประเทศอยู่แล้ว หากมีการจัดเก็บภาษีก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก นักลงทุนต่างชาติก็อาจเลือกไปเทรดในตลาดอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ยอดเทรดลดลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของปริมาณการซื้อขายรวม และกลุ่มถัดไปที่โดนผลกระทบคือกลุ่มเทรดเดอร์และ Prop Trade ซึ่งทำให้ต้นทุนการเทรดเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซ็นแล้ว 'เนต้า' เซ็นเข้าร่วม มาตรการ EV 3.5 กับกรมสรรพสามิต

สรรพสามิตลงนาม MOU กับ “เนต้า ออโต้” ตามมาตรการ EV 3.5 มุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ