กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยการจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน ก.ค.67 มีจำนวน 7,837 ราย เพิ่ม 14% ทุนจดทะเบียน 23,704.59 ล้านบาท เพิ่ม 42% ส่วนยอดเลิก 1,890 ราย เพิ่ม 1.23% รวม 7 เดือน ตั้งใหม่ 54,220 ราย เพิ่ม 0.16% เลิก 7,929 ราย ลด 11.55% ระบุช่วง 10 ปี ธุรกิจตั้งใหม่ เปลี่ยนจากขายปลีก ขายส่ง การผลิต เป็นภาคบริการ คาดแนวโน้มดีต่อเนื่อง หลังรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีลุ้น 9-9.8 หมื่นราย
29 ส.ค. 2567 – นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ก.ค.2567 มีจำนวน 7,837 ราย เพิ่มขึ้น 14% ทุนจดทะเบียน 23,704.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เนื่องจากมีปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งนโยบายการท่องเที่ยวที่ผลักดันให้ไทยเป็น Tourism Hub ของโลก การผลักดันนักท่องเที่ยวสู่เมืองหลักและเมืองรอง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้านมีความคืบหน้า โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 367 ราย
ส่วนการจัดตั้งใหม่สะสม 7 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวน 54,220 ราย เพิ่มขึ้น 0.16% ทุนจดทะเบียน 168,783.20 ล้านบาท ลดลง 62.10% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และบิ๊กซี โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,189 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
สำหรับการจดทะเบียนเลิกเดือน ก.ค.2567 มีจำนวน 1,890 ราย เพิ่มขึ้น 1.23% ทุนจดทะเบียน 8,831.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.31% เพราะการเลิกในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อจำหน่าย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 1,420.00 ล้านบาท โดยธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร และยอดรวม 7 เดือน มีจำนวน 7,929 ราย ลดลง 11.55% ทุนจดทะเบียน 85,579.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.79% เพราะมีนิติบุคคล 4 ราย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิก มีทุนจดทะเบียนรวม 6,004.71 ล้านบาท และเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิก ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
นางอรมน กล่าวว่า กรมได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของการจดทะเบียนนิติบุคคล ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในอดีตการจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นกลุ่มขายส่ง ขายปลีก และการผลิต และได้เปลี่ยนผ่านเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ โดยช่วง 10 ปีมีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจบริการเกินครึ่งของธุรกิจทั้งหมด และเกือบทั้งหมดของธุรกิจบริการ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S คิดเป็น 99.22% ธุรกิจขนาดกลาง M คิดเป็น 0.52% และขนาดใหญ่ L คิดเป็น 0.26% สำหรับประเภทธุรกิจบริการที่จัดตั้งสูงสุดคือ อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร และขนส่งและขนถ่ายสินค้า
ทั้งนี้ ในปี 2566 ธุรกิจบริการสร้างรายได้อยู่ที่ 11.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.80% โดยธุรกิจบริการ สามารถทำกำไรสูงสุด คิดเป็น 7.24% ของรายได้ ในขณะที่ภาคการผลิต คิดเป็น 4.61% ของรายได้ และภาคขายส่ง ขายปลีกคิดเป็น 1.94% ของรายได้ ซึ่งจากข้อมูลในช่วง 7 เดือนของปี 2567 ธุรกิจบริการมีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวน 31,003 ราย คิดเป็น 57.18% ของจำนวนการจัดตั้งทั้งสิ้น 54,220 ราย ทุนจดทะเบียน 95,644.19 ล้านบาท คิดเป็น 56.67% ของทุนจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 168,783.20 ล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการยังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจที่รองรับกับการท่องเที่ยว ประกอบกับมีการจัดตั้งธุรกิจบริการประเภทใหม่ ๆ ที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ อาทิ การวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี , ธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ , ธุรกิจความบันเทิง , ธุรกิจสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรมคาดว่าการจัดตั้งธุรกิจใหม่จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่มีต่อเนื่อง การอนุมัติการทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตรอยู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยประเมินว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 90,000-98,000 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์ จับมือ ตำรวจภูธรภาค 8 สร้างเครือข่ายป้องปรามลานเทแยกลูกปาล์มร่วงผิดธรรมชาติ เพื่อรักษาคุณภาพผลปาล์ม ยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม
กระทรวงพาณิชย์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อรักษาคุณภาพผลปาล์มให้เกษตรกรขายได้ราคา โดยร่วมมือกับ ตำรวจภูธรภาค 8 ส่งเสริมการทำปาล์มคุณภาพ จัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกี่ยวกับแนวทางการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่องมือ