ไทยพาณิชย์ชี้มูลค่า 'ส่งออก' ปี 2021 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ลุ้นปี 2022 โตต่อ

25 ม.ค. 2565 ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และ วิชาญ กุลาตี, นักวิเคราะห์ จาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เขียนบทความเรื่องการ ส่งออก ในปี 2021 และแนวโน้มปี 2022 โดยระบุว่า

ส่งออกเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง

การส่งออกเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.2% ท่ามกลางการระบาดของ Omicron โดยขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญและทุกตลาดสำคัญ ขณะที่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การส่งออกหักทองคำขยายตัวที่ 4.2% จากเดือนพฤศจิกายน จากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงปลายปีจากหลายประเทศ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Manufacturing PMI) ยังคงอยู่ในระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดยุโรปเริ่มชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของผลกระทบจากการระบาดและมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศที่ยังต้องติดตาม

มูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021

ในภาพรวมปี 2021 ส่งออกไทยขยายตัวที่ 17.1% โดยมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจการค้าโลก และการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ โดยเฉพาะการขยายตัวในตลาดจีนและอินเดีย และในกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก

ส่งออก ไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัย

คาดส่งออกไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดย EIC ประเมินส่งออกเติบโตที่ 3.4% ในปี 2022 จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท กอปรกับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาจากการระบาดของ Omicron และปัญหาคอขวดอุปทานที่อาจยืดเยื้อ

มูลค่าการส่งออกเดือนธันวาคม 2021 มีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลที่ 24,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.2%YOY โดยหากหักทองคำ การส่งออกจะขยายตัวที่ 24.1% ในภาพรวมของปี 2021 การส่งออกมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกันที่ 271,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวได้สูงถึง 17.1% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี และหากหักทองคำจะขยายตัวสูงถึง 22.4%

ด้านการส่งออกรายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ในทุกรายสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาก

• รถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 45% เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 12% และขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน โดยมีตลาดหนุนที่สำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ (190.7%), อินโดนีเซีย (134.8%) รวมถึงออสเตรเลีย (106.7%) เป็นต้น ในขณะที่ญี่ปุ่น (-44.7%) และมาเลเซีย (-11%) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญในเดือนนี้ สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 36.2%

• เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 28.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยมีตลาดหนุนที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ (41.7%), จีน (53.1%), และฮ่องกง (41.2%) เป็นต้น ในขณะที่สิงคโปร์ (-28.5%) และเยอรมนี (-9.9%) เป็นตลาดฉุดที่สำคัญ สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 18%

• เคมีภัณฑ์ขยายตัวที่ 38.9% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ เช่น จีน (19.3%), ญี่ปุ่น (63%) อินเดีย (101.6%) เป็นต้น ยกเว้น กัมพูชา (-7.7%) และเกาหลีใต้ (-50%) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 45.5%

น้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากที่ 35% ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ตามความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ เช่น มาเลเซีย (20.6%), สิงคโปร์ (116.90%), เกาหลีใต้ (641.9%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 65.2%

• เม็ดพลาสติกขยายตัว 25.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยในเดือนนี้ขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ เช่น อินเดีย (14.7%), อินโดนีเซีย (76.7%), เวียดนาม (38.8%) เป็นต้น ยกเว้นจีน (-0.8%) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 41.1%

• อัญมณีและเครื่องประดับหักทองขยายตัว 29.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยในเดือนนี้ขยายตัว
ในทุกสินค้าภายในกลุ่ม เช่น เพชร (38.1%), พลอย (61.1%), อัญมณีสังเคราะห์ (51.6%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 26.5%

• เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ขยายตัว 28.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ (80.2%), อินโดนีเซีย (88.5%), ไต้หวัน (315.7%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 40.1%

ด้านการ ส่งออก รายตลาด พบว่ายังขยายตัวได้ในทุกตลาดสำคัญ

• การส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมากที่ 54.9% โดยขยายตัวได้ในทุกเกือบสินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ (106.7%), อัญมณีและเครื่องประดับ (46.8%) และเม็ดพลาสติก (55.7%) เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-4.4%) และตู้เย็น (-15.3%) หดตัว สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 10.9%

• การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 36.5% ซึ่งเป็นการขยายตัว 19 เดือนต่อเนื่อง โดยขยายตัวได้ในทุกสินค้าหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ (41.7%), เครื่องปรับอากาศ (93.1%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (80.2%) เป็นต้น สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 21.5%

• การส่งออกไปอาเซียน 5 ขยายตัว 35% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ รถยนต์และส่วนประกอบ (78.2%), น้ำมันสำเร็จรูป (69.5%), เม็ดพลาสติก (48%) และแผงวงจรไฟฟ้า (16.6%YOY) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 19.4%

• การส่งออกไปฮ่องกงขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมากที่ 23.5%YOY โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ (41.2%), และอัญมณีและเครื่องประดับ (16%) สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 2.6%

• การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัว 1% หลังจากที่ทรงตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีไก่แปรรูป (16.3%), เคมีภัณฑ์ (63%), คอมพิวเตอร์ (11.2%) และเม็ดพลาสติก (36.3%) เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ แต่มีรถยนต์และส่วนประกอบ (-44.7%), เครื่องจักรกล (-11.6%), โทรศัพท์ (-37.1%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (-6.8%) เป็นปัจจัยฉุดสำคัญ สำหรับภาพรวมของปี 2021 สามารถขยายตัวได้ 9.5%

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนธันวาคม 2021 ขยายตัว 33.4% เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 20.5% โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (118.3%) ที่ขยายตัวตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน, สินค้าทุน (4.5%), สินค้าอุปโภคบริโภค (13.3%) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (1.6%)

ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเช่นกันที่ 38.9% และหากหักทองคำจะขยายตัวที่ 29.3% ทั้งนี้ในภาพรวมของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 29.8% ในส่วนของดุลการค้าเดือนธันวาคมขาดดุล -354.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากรวมทั้งปี 2021 จะเกินดุลที่ 3,573 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกในเดือนธันวาคม ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 24.7% และเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกหักทองคำและปรับฤดูกาลขยายตัว 4.2% จากเดือนพฤศจิกายน (MOM, SA) (รูปที่ 3 ซ้าย) โดยมีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญและในทุกตลาดสำคัญจากการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงท้ายปี

จากหลายประเทศ โดยเฉพาะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวถึง 36.5% และออสเตรเลียที่ 54.9% ที่มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของส่งออกรายสินค้า รถยนต์และส่วนประกอบ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนของราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง

ในภาพรวมของปี 2021 การส่งออกของไทยเติบโตได้ถึง 17.1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี (ตัวเลขในระบบศุลกากร) โดยแม้ว่าในบางช่วงจะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเพื่อควบคุมการระบาดทั้งในประเทศไทยเองและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน รวมถึงปัญหาคอขวดอุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทั้งจากอานิสงส์ของปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาด

ของ COVID-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะพบว่า การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ในอัตราที่ต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี

แต่เร่งตัวขึ้นมาเกาะกลุ่มได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกของไทยในช่วงท้ายปี 2021 ไปยังตลาดยุโรป จะเริ่มเห็นถึงสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการระบาด ของ Omicron ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปที่บางประเทศได้เริ่มนำเอามาตรการปิดเมืองกลับมาใช้อีกครั้งโดยยังคงต้องจับตาถึงผลกระทบของ Omicron ในระยะต่อไป

ในปี 2022 EIC ประเมินส่งออกเติบโตต่อเนื่องที่ 3.4% (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2022 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มการอ่อนค่า ของเงินบาท นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา โดยจากการคาดการณ์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) การเข้าร่วม RCEP จะทำให้ไทยเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตได้มากขึ้นผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าและการลดมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยในปี 2022 ยังต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยกดดันและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ปัญหาคอขวดอุปทานที่อาจยาวนานขึ้นจากการระบาดของ Omicron ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้อัตราค่าระวางเรือและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อัตราเงินเฟ้อโลกที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หรือยืดเยื้อกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของนโยบายการจัดการด้านพลังงานรวมถึงปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/8057

อ่านเพิ่มเติม

‘จุรินทร์’ ยิ้มส่งออกปี 64 โต 17% มั่นใจ 65 ขยายตัวต่อ 3-4%

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' ลุยตลาดจีน MOU นำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน

“ภูมิธรรม”  ลุยตลาดจีน  ลงนาม MoU ระหว่างสมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน กับสมาคมผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศจีน มุ่งค้ำประกัน เพิ่มรายได้ โปรโมตคุณภาพสินค้าไทยในตลาดโลก