'ขุนคลัง' ปักธงเข็น GDP ปี 68 โต 3.5% ขย่ม 'ธปท.' หั่นดบ.-คุมอัตราแลกเปลี่ยน เล็งแก้หนี้กลุ่มNPLเกิน 1 ปี ชูหั่นต้นช่วย

‘ขุนคลัง’ ปักธงเข็นจีดีพีปี 68 โตพรวดแตะ 3.5% ฟุ้งรัฐเร่งปูพรมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดูดเม็ดเงินลงทุน ท่องเที่ยว-ส่งออกคึกคัก ขย่ม ‘แบงก์ชาติ’ หั่นดอกเบี้ย คุมอัตราแลกเปลี่ยน หนุนไทยแข่งขันได้ พร้อมกางแผนเตรียมลุยแก้หนี้ กลุ่ม NPL เกิน 1 ปี เล็งหั่นต้น-ลดดอกเบี้ย ช่วยเต็มสูบ

27 ม.ค. 2568 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวว่า มั่นใจว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้มากกว่า 3% อย่างแน่นอน โดยส่วนตัวประเมินว่าน่าจะเติบโตถึงระดับ 3-3.5% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวได้ที่ระดับ 2.6-2.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลที่เริ่มเข้ามาทำงานและขับเคลื่อนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สะท้อนจากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกันภาคการส่งออกที่เริ่มมีการฟื้นตัวและเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2567 ตัวเลขการส่งออกของไทย ขยายตัวที่ระดับ 5.4% ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2568 คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยับขึ้นไปถึงสูงสุดที่ 39 ล้านคน จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 35 ล้านคน ด้านการลงทุนภาคเอกชนนั้น รัฐบาลได้เร่งสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมา พบว่า มีนักลงทุนต่างชาติที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงการคลังยังได้ให้ความสำคัญกับวินัยการคลังของประเทศอย่างเข้มข้น โดยได้พยายามจัดทำงบประมาณขาดดุลให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และยังเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่ดีให้เข้ามาในเมืองไทย โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล ธุรกิจกรีน ธุรกิจเซมิคอนดักซ์เตอร์ คลาวด์ AI และธุรกิจไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อมั่นว่าธุรกิจเหล่านี้จะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ทยอยเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ตลอดจนต้องมีการจัดงบประมาณเพื่อยกระดับและพัฒนาบุคคลากร เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ

“ต้องติดตามความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครเดาออกว่าจะไปทางไหน จะออกหัว หรือออกก้อย แต่ต้องยอมรับว่าทุกคนมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งตรงนี้กระทรวงการคลังขอใช้เวลา 1-2 เดือนในการประเมิน และน่าจะพอเดาทางได้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไปทางไหน” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะค่อย ๆ สร้างความน่าเชื่อถือให้เพิ่มขึ้นมา เราต้องทำให้เขาเชื่อถือก่อนว่าเราเป็นประเทศที่ไม่แพ้ ไม่เสียเปรียบใคร เรามีความหวัง และเรามีนายกรัฐมนตรีที่อายุยังน้อย ที่สามารถคิดได้เร็ว จับประเด็นได้เร็ว แข็งแรง ผมเห็นมาตรการของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องถือว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนเก่งมาก ซึ่งเราต้องสร้างความเชื่อมั่น ถ้าเราเชื่อมั่น และสามารถปรับตัว ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เราต้องขยันดูว่าคนอื่นเขาทำอะไร และเราจะต้องรู้จริง รู้ลึก ส่วนนโยบายการคลังจะทำด้วยความมีวินัย ทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง ปรับโครงสร้างการผลิต เพิ่มขีดการแข่งขัน เพื่อให้การลงทุนราบรื่น คนในประเทศสมัครสมานสามัคคีกัน

สำหรับนโยบายการเงิน ยืนยันว่ายังอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง แต่คนที่จะตัดสินใจเรื่องนี้คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 ที่ออกมาถือว่าต่ำมาก ขยายตัวไม่ถึง 0.5% ผิดจากความจริงไปค่อนข้างเยอะ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการบริหารทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องความเข้มแข็งของประเทศเข้าไปด้วย ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ก็จะต้องพิจารณาไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่ง คู่ค้า ไม่ควรมองแค่ 3-5 เดือน แล้วตัดสินว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอ่อน หรือแข็งค่าไม่ได้ แต่ในระยะสั้นนั้น การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องทำให้มีเสถียรภาพ ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งดูแลนโยบายการคลังที่จะต้องมาคุยกับผู้ดูแลนโยบายการเงิน เพื่อหาความเห็นหรือจุดสมดุลในการดูแลเรื่องดังกล่าวที่ใกล้เคียงกัน

“อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะต้องเข้าใจว่าวันนี้ประเทศไทยมีหนี้ ที่เป็นหนี้ภาคประชาชน 16 ล้านล้านบาท ส่วนรัฐบาลเองก็มีหนี้อีก 10 กว่าล้านล้านบาท หากอัตราดอกเบี้ยลดลงไป ก็จะช่วยได้เยอะ ซึ่งผมก็ได้แต่ภาวนา และหวังว่าจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยของไทยลดลงไปอีก” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าว

นายพิชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดลงทะเบียนโครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งจะดำเนินการถึงวันที่ 28 ก.พ. นี้ และหลังจากนั้น จะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งมีค่อนข้างมาก และแก้ไขได้ยาก โดยมองว่ากลุ่มนี้วิธีการแก้ไขปัญหาจะต้องแตกต่างออกไป การลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องมาพิจารณาปรับลดเงินต้นด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมาหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด รวมถึงสถาบันการเงิน โดยขณะนี้อาจจะต้องรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจประกอบด้วย หากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2567 ออกมาดี ซึ่งเบื้องต้นคลังประเมินว่าจะอยู่ที่ 4% หากไม่มีน้ำท่วม แต่เมื่อมีน้ำท่วมตัวเลขอาจจะชะลอลงมาเหลือ 3.5% ซึ่งหากเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่ดี ก็เชื่อว่าจะทำให้การทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียเกิน 1 ปี หารือกันได้เข้าใจมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง