
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวนซึ่งมีปัจจัยลบจากข้อมูล PMI ภาคการผลิตของจีนที่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนม.ค. ประกอบกับมีการเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บ Universal Tariffs จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เริ่มต้นที่อัตรา 2.5% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน
1 ก.พ. 2568 – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมา ขณะที่ แรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนมุมมองของเฟดที่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณไม่รีบร้อนที่จะปรับลดดอกเบี้ย หลังการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 4.25-4.50% ในการประชุม 28-29 ม.ค. ที่ผ่านมาก็ตาม
เงินบาทรักษาช่วงบวกไว้ได้จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์/สกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27-31 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,835.9 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,936.3 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 1,928.3 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 8.0 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 ก.พ. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุม BOE สถานการณ์เงินทุนต่างชาติและตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค. ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนก.พ. (เบื้องต้น) รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหลักๆ จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยในช่วงแรกเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามทิศทางหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเปิดตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทจีนซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่และหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน
ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นสั้น ๆ ในเวลาต่อมาตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติก่อนจะร่วงลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ประกอบกับผลการประชุมเฟดเป็นไปตามตลาดคาด โดยเฟดมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมพร้อมส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงลึกต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์สวนทางภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ระดับ 1,310.72 จุด จากแรงขายหุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่ง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อซื้อกิจการคืน อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวม โดยมีปัจจัยบวกจากการประกาศแผนซื้อคืนหุ้นของแบงก์แห่งหนึ่งในกลุ่ม D-SIBs รวมถึงแรงซื้อเพื่อหวังเงินปันผล
ในวันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,314.50 จุด ลดลง 2.92% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,612.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.72% มาปิดที่ระดับ 278.98 จุด
สัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.พ. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,275 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,330 และ 1,345 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. 2568 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย นโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและการบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนม.ค. 2568 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOE ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. 2568 ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. 2568 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 2567 ของยูโรโซน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เท้ง' ถอนหงอก 'แม้ว' พูดคำโต แต่ทำไม่ได้!
หัวหน้าพรรคปชน. ซัด 'ทักษิณ' โชว์วิชั่น 'เศรษฐกิจดิจิทัล' อาจซ้ำรอย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ที่เคยประกาศแจกพร้อมกันให้เกิดพายุหมุน แต่ต้องแบ่งเป็นเฟส แนะเลิกใช้ภาษีประชาชนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลั่นอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริง ไม่ใช่แค่คำพูดที่ดูโต แต่ทำไม่ได้
'เจิมศักดิ์' กาง 7 ข้อ วิเคราะห์ 'รัฐบาลแพทองธาร' กับค่าเสียโอกาสและผลกระทบ
'เจิมศักดิ์-นักวิชาการเศรษฐศาสตร์' ยก 7 ประเด็นสำคัญ สะท้อนถึงค่าเสียโอกาสและผลกระทบจากการดำรงตำแหน่งของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ชี้ความไม่ชัดเจนทางการเมืองและเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศไทย
ผงะ! ขุนคลัง ขอร่วมวงถก สมาคมแบงก์
“ขุนคลัง” ส่งซิกร่วมประชุมสมาคมแบงก์ หวังถกปลดล็อกปล่อยกู้ กระทุ้งหั่นดอกเบี้ย พร้อมเร่งหาข้อสรุปมาตรการ LTV ให้จบก่อนสิ้นเดือนนี้ “นักวิชาการ” หนุนหวยเกษียณ แต่แนะเพิ่มเงินรางวัล