
ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนมีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนมากขึ้น ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง คลื่นความร้อนทั้งบนบกและในทะเล ไปจนถึงภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิต ทำให้ทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ทั่วโลกภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
3 มี.ค. 2568 – สำหรับประเทศไทยนั้นได้ประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคพลังงานเองก็มีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการนำ REC หรือ Renewable Energy Certificate คือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน มาเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานในระดับองค์กร ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรอง REC ในประเทศไทย (Local Issuer สำหรับประเทศไทย) จากเจ้าของมาตรฐาน คือ The International Tracking Standard Foundation (I-TRACK Foundation: Founder of I-REC) ตั้งแต่ปี 2563 โดยเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ตรวจสอบและให้การรับรอง REC ซึ่งมีจำนวนผู้สนใจเข้ารับบริการจำนวนมาก และถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการ
ดังนั้น กฟผ.จึงได้ดำเนินการพัฒนา EGAT REC Issuer Platform โดยมุ่งให้เป็น One Stop Service อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ และเป็นการยกระดับการบริการของ กฟผ.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของตลาดได้อย่างทันการณ์ รวมถึงมีการพัฒนาเว็บไซต์ EGAT Issuer เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารและให้ข้อมูลระหว่าง EGAT กับผู้ที่สนใจ
อย่างไรก็ตาม นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. ระบุว่า REC คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันแหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ หรือลม เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้
ดังนั้น การซื้อหรือขาย REC จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า Scope 2: Indirect Emission นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานไฟฟ้า รวมถึงเป็นอีกกลไกที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งยังช่วยให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
“REC ช่วยเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ สามารถซื้อและอ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ ในขณะที่ยังใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายเสาไฟตามปกติ ส่งผลให้สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนครอบคลุมได้ตามสัดส่วนที่ต้องการ หรือแม้แต่ในกรณีที่เป็นตึกออฟฟิศที่ไม่มีพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์พลังงานสะอาดเลย REC ก็สามารถช่วยให้เป็นองค์กรที่ใช้พลังงานสะอาด 100% ได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานแม้แต่น้อย” นายธวัชชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้กลไก REC ควบคู่ไปกับการสนับสนุนของภาครัฐและภาคนโยบาย เช่น โครงการ Utility Green Tariff หรือ อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกพร้อม REC ซึ่งเป็นโครงการของภาครัฐที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ได้ตั้งไว้ รวมทั้งนโยบายดังกล่าวจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยในระยะยาว และที่สำคัญจะเป็นกรอบแนวทางไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
นายธวัชชัย ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อม กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1 หรือ UGT1) โดยในปี 2568 นี้ได้เตรียมไฟฟ้าสีเขียวไว้รองรับความต้องการประมาณ 2,000 ล้านหน่วย รวมถึงสิทธิ์ตัว REC อีก 2 ล้าน REC ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย คาดจะมีผู้ใช้พลังงานยื่นขอสิทธิ์เข้าใช้สำหรับปี 2568 ตามที่ได้คาดการณ์ไว้
โดยแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าสีเขียวมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทั้ง 7 เขื่อนของ กฟผ. ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนท่าทุ่งนา เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนปากมูล รวมกำลังผลิตตามสัญญา 1,135 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งเตรียมการในการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล และมั่นใจว่าปริมาณไฟฟ้าสีเขียวจะมีเพียงพอในการรองรับความต้องการรูปแบบนี้ของภาคเอกชนในช่วงแรกได้ทั้งหมด และในระยะต่อไปคาดว่าจะมีการออกโปรแกรมที่เรียกว่า Utility Green Tariff 2 หรือ UGT2 ไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงที่มา ซึ่งจะมาจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นมีแหล่งที่มาจากแสงอาทิตย์ ลมต่างๆ ที่จะเข้ามา
“ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ความสนใจกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเห็นได้จากกระแสตื่นตัวขององค์กรทั้งภาคธุรกิจ เอกชนต่างๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ดังนั้นใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน REC และ UGT ซึ่งในระยะแรกเป็น UGT1 เป็นทางเลือกที่ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมใช้กลไกนี้มุ่งสู่ Net-zero emissions และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในระดับภูมิภาค เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล” นายธวัชชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จัดเตรียมไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำจากเขื่อน โดยเตรียมไว้จำนวนรวม 10,000 ล้านหน่วย แบ่งเป็น ไฟฟ้าสีเขียวแบบที่ไม่เจาะจงแหล่งที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้า หรือ UGT1 จำนวน 2,000 ล้านหน่วยต่อปี ภาคธุรกิจที่สนใจลงทะเบียนแจ้งความต้องการที่จะขอใช้ไฟฟ้าสีเขียวในแพลตฟอร์มของทั้ง 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเปิดรับคำขอใช้ไฟฟ้าสีเขียวถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าลงนามในข้อตกลงที่จะรับบริการ อัตราค่าไฟฟ้า UGT1 จะบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ และไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงที่มา (Utility Green Tariff 2 หรือ UGT2) อีกประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปี คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจ ลงทะเบียนสมัครใช้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 นี้.