จาก 'วิมานหนาม' สู่การเปลี่ยนแปลง UN Women ปลุกพลัง Sustainable Influencers รุ่นใหม่ที่จุฬาฯ

รายวิชา ‘GEN GREEN as Sustainable Influencers’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘การวิเคราะห์ภาพยนตร์วิมานหนามจากมุมมองเพศวิถี’ เผยประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ปรากฏในสื่อภาพยนตร์ไทย พร้อมชูบทบาทการสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม การบรรยายครั้งนี้นำเสนอการวิเคราะห์ภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ ผ่านเลนส์ของเพศสภาพ เจาะลึกประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ โครงสร้างอำนาจในสังคม และบทบาทของสื่อในการสร้างหรือท้าทายอุดมการณ์ปิตาธิปไตย

27 มี.ค. 2568 – มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ภาพยนตร์ไม่ใช่เพียงเครื่องมือบันเทิง แต่เป็นกระจกสะท้อนสังคม และบางครั้งก็ตอกย้ำชุดความคิดที่นำไปสู่การกดขี่ทางเพศ ในกรณีของ ‘วิมานหนาม’ เห็นได้ชัดว่าตัวละครหญิงต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่สังคมกำหนดให้ ขณะที่ตัวละครชายเองก็ถูกตีกรอบด้วยค่านิยมแบบปิตาธิปไตย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างอำนาจที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้การสื่อสารในสังคมไม่เพียงแต่นำเสนอปัญหา แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากผู้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของเพศในสื่อ เก็สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ส่งเสริมความเสมอภาค และขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับการทำงานของ UN Women ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมุ่งเน้นการใช้สื่อและการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง อาทิ ในประเด็นการยุติความรุนแรงทางเพศ การเข้าถึงความยุติธรรม ทรัพยากร สร้างความเข้มแข็งในอาชีพของผู้หญิง การดำรงชีพที่มีคุณภาพ บทบาทของผู้หญิงในการสร้างความมั่นคงในสังคม ซึ่งสามารถส่งเสริมได้ผ่านการศึกษา การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และการสร้างผู้นำทางความคิดรุ่นใหม่

โดยการบรรยายครั้งนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญหลายด้าน ได้แก่ ความรุนแรงทางเพศและโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย บทบาทของผู้หญิงและข้อจำกัดทางสังคมที่สะท้อนในภาพยนตร์ การนำเสนอความเป็นชายแบบดั้งเดิม(Hegemonic Masculinity) และแรงกดดันต่อเพศชาย ความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในภาพยนตร์ไทย รวมถึงการพิจารณาบทบาทของสื่อในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

บุรินทร์ เหมทัต อาจารย์พิเศษประจำรายวิชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำประเด็นทางเพศมาวิเคราะห์ผ่านสื่อภาพยนตร์ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศไม่ได้มีอยู่แค่ในชีวิตจริง แต่ยังถูกตอกย้ำผ่านสื่อบันเทิงด้วย ซึ่งรายวิชา GEN GREEN มุ่งหวังที่จะสร้างผู้นำทางความคิดที่สามารถใช้แพลตฟอร์มของตนในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

โดยวิชา GEN GREEN as Sustainable Influencers เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อสร้างผู้นำทางความคิดด้านความยั่งยืน (Sustainable KOLs) ที่สามารถใช้พลังของการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเป้าหมายสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและพฤติกรรมของสังคมที่ยั่งยืน

สำหรับนิสิตจุฬาฯ ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย สามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชา GEN GREEN ได้ในภาคการศึกษาหน้า โดยจะเปิดรับสมัครเร็วๆ นี้

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://gened.chula.ac.th

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศศินทร์-SCGC จุดประกายสตาร์ตอัป สร้างอิมแพค พลิกโลกธุรกิจ สู่ความยั่งยืน บนเวที Bangkok Business Challenge 2025 - Growing Impactful Ventures

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) ผู้จัดงาน การแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ Bangkok Business Challenge 2025 powered by

ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ “งานใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” สุดคึกคัก ณ อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ปวงชนร่วมงานแน่นทั่วพื้นที่ สัมผัสวัฒนธรรมไทยล้ำค่า

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน ใต้ร่มพระบารมี 243 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ชวนย้อนเวลาเดินตลาดย้อนยุค ชมการแสดงสุดพิเศษจากศิลปินชื่อดัง ชิมอาหารโบราณ ช้อปผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ

'แพทย์จุฬาฯ รุ่น 35' ออกโรงค้าน! ประเทศไทยไม่พร้อมมี 'กาสิโน'

ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 35 ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร