
‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ กางภาพเศรษฐกิจไทยฝ่าพายุ แนะรัฐบาลเบรกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบปูพรม ชมเปาะยอมทบทวนดิจิทัลวอลเล็ต ระบุกระสุนคลัง-การเงินมีจำกัด ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยันหั่นดอกเบี้ย 2 รอบติดเพียงพอรองรับผลกระทบภาษีทรัมป์ แจงหากสถานการณ์แย่ลงพร้อมทบทวนอีกครั้ง
9 พ.ค. 2568 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อภาพรวมการค้าโลก ว่า เป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนสูงมาก เนื่องจากหลายอย่างขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และมองไปข้างหน้าจะเห็นได้ชัดว่า เหมือนพายุที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าพายุลูกนี้จะใช้เวลานาน ไม่น่าจะจบได้เร็ว แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการเลื่อนเวลาการใช้มาตรการภาษีออกไป 90 วัน ก็คิดว่าจะสามารถเคลียร์ทุกอย่างได้อย่างชัดเจนทั้งหมด เนื่องจากประเทศที่ต้องการเจรจามีจำนวนสูงมาก ดังนั้นการเจรจาคงจะไม่ง่าย และแม้ว่าจะมีการเจรจาแล้วก็อาจจะไม่จบ ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้มองว่าพายุลูกนี้อาจจะหนักมากขึ้น และต้องใช้เวลานานในการแก้ไข
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่ามี 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ปริมาณสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ยางล้อ อาหารแปรรูป และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกกลุ่มที่น่าจับตามองและมีความเป็นห่วงด้วยเช่นเดียวกัน คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในซัพพลายเชนที่แม้จะไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ แต่มีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอื่น ซึ่งประเด็นเหล่านั้นมีการส่งออกไปยังสหรัฐอีกที อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ คือ อุตสาหกรรมที่อาจจะถูกกระทบจากการที่สินค้านำเข้าจากหลายประเทศทะลักเข้ามาในไทย จากการที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ตรงนี้อาจจะส่งผลกระทบกับห่วงโซ่ธุรกิจได้
“จากที่ดูครั้งนี้ต้องบอกว่า ผลกระทบระยะยาวมหาศาลแน่นอน แต่ถ้าเทียบกับวิกฤติ หรือช็อกอื่น ๆ ที่เคยเจอ คิดว่าครั้งนี้ไม่หนักเท่า ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติโควิด-19 หรือวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ หรือตกใจจนเกินไป โดยความลึกของช็อกในครั้งนี้ไม่หนักเท่าวิกฤติอื่น ๆ ที่เคยเจอภาพ มองว่าน่าจะเริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2568 โดยจุดต่ำสุดของปัญหาน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4/2568” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า หลังวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป จะสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริง ดังนั้นไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้อย่างสง่างาม หากไม่มีการปรับตัว ยังคงกัดฟันพึ่งพาการเติบโตแบบเดิม จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก และประเทศไทยในระยะข้างหน้าชะลอลงจากที่ผ่านมา ดังนั้นจึงควรถือโอกาสนี้ปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตได้สูงกว่าที่เคยผ่านมา
อย่างไรก็ดี มองว่าโจทย์ของนโยบายด้านเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องการกระตุ้นเพื่อเรือวิ่งในความเร็วแบบเดิม มาตรการบางอย่างอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เช่น การไปเน้นเรื่องการกระตุ้นการบริโภคอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจเจอช็อกก็จะต้องชะลอตัวลง เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น ดังนั้นโจทย์ของนโยบายด้านเศรษฐกิจจริง ๆ ตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ช็อกที่เจอเบาลง อย่าลึกมาก รวมถึงต้องช่วยและเอื้อให้การปรับตัวที่จะเกิดขึ้นทำได้รวดเร็ว และเป็นการเติบโตในระยะยาวหลังพายุลูนี้ผ่านพ้นไป
“ตัวอย่างที่สะท้อนว่ามาตรการที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ควรเป็นอะไรที่ปูพรม เพราะผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากช้อกครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างกันในแต่ละส่วน และไม่เท่ากัน โดยเฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งความเห็นของ ธปท. ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยได้สื่อสารออกไป เราคิดว่าจะต้องกลับมาดูในเรื่องความคุ้มค่า ประสิทธิผลของโครงการนี้ให้ดี โดยเฉพาะในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป ที่มีทั้งเรื่องค่าท้าทายใหม่ ๆ บวกกับปัญหาสินค้าที่อาจทะลักเข้ามา จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมหากจะมีการทบทวนโครงการนี้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณรัฐบาลที่รัฐบาลรับฟังความเห็นของ ธปท. ในการที่จะทบทวนความเหมาะสมของโครงการอีกครั้ง” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะมีการเดินหน้าโครงการสถานบันเทิงครบวงจร (entertainment complex) นั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่กว่าการดึงคนจำนวนมากเข้ามาในประเทศ คือการทำอย่างไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันโลกให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์ การที่ทำอะไรที่มีความไม่ชัดเจน มีควาไม่แน่นอนสูง ในบริบทนั้นไทยจะถูกมองว่าทำตัวไม่ถูกต้อง ไม่ขาวสะอาด โดยเฉพาะเรื่องกาสิโนที่มองว่าเป็นความเสี่ยง ทำให้ภาพของประเทศมีความเป็นสีเทามากขึ้น ในทางกลับกันหากมาเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ Wellness ในยุคสังคมสูงวัย ซึ่งตลาดในส่วนนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูง การรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มจะช่วยตอบโจทย์เรื่องการยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
นอกจากนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมานโยบายการเงินได้ดำเนินการควบคู่กับนโยบายด้านอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าน่าจะเพียงพอรองรับผลกระทบจากพายุภาษีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาได้ในระดับหนึ่ง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ Outlook เปลี่ยนไปจากที่ประเมิน ธปท. ก็พร้อมที่จะปรับนโยบาย แต่ ณ วันนี้ยังมองว่านโยบายการเงินในระดับปัจจุบันเพียงพอที่จะรองรับการชะลอตัวต่าง ๆ ได้
“เข้าใจว่าตอนนี้ภาพดูหนัก มัวหมอง หนีไม่พ้นพายุต่าง ๆ ที่กำลังจะมาอย่างชัดเจน แต่กระสุนทั้งฝั่งคลังและภาคการเงินมีจำกัด ยิ่งสะท้อนว่าต้องใช้ให้ถูกต้อง ก็ต้องใช้ให้ระมัดระวัง และต้องใช้ให้ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยอัตราดอกเบี้ยตอนนี้มองว่าเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรองรับผลกระทบของสงครามการค้าแล้ว แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก เราก็พร้อมที่จะปรับดอกเบี้ยลงอีก แต่การที่ปรับลงต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เหลืออยู่มีค่อนข้างจำกัด และเมื่อดอกเบี้ยลดต่ำลงมาก ประสิทธิผลที่ได้ก็จะยิ่งน้อยลง เพราะมองว่าการพยุงต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าพยุงแล้วไม่เห็นว่าจะเป็นอย่างไรต่อ มันก็ยาก ส่วนเรื่องความจำเป็นในการออกซอฟท์โลนนั้น ต้องดูสถานการณ์ และผลกระทบของแต่ละกลุ่มต่างกัน มาตรการที่เหมาะสมก็อาจจะไม่ใช่ซอฟท์โลน ตอนนี้เหมือนคนไข้มาแต่ยังไม่รู้อาการ ดังนั้นการจะให้ยาก็ต้องทำให้ตรงกับโรค ด้วยบริบทตอนนี้เรื่องเครดิตเรตติ้งประเทศเป็นสิ่งสำคัญและต้องใส่ใจ เรื่องเสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากโดนดาวน์เกรดมาก็จะมีผลไม่น้อย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว