เอกชนลุ้นส่งออกไตรมาสแรกโตแกร่งอ้อนรัฐคุมดีเซล/ค่าน้ำ-ไฟฟ้า

ยังแกร่ง! “เอกชน” ลุ้นไตรมาส 1/65 ส่งออกโตกระฉูด 5% คงเป้าหมายทั้งปีโตเต็มสูบ 5-8% จับตาราคาพลังงานพุ่ง หวั่นกระทุ้งต้นทุนขนส่งทะยาน ดันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขยับ อ้อนรัฐตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร พร้อมขอคุมราคาค่าน้ำ-ไฟฟ้า ชงทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

9 ก.พ. 2565 – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า มั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2565 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 5% และคงคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ระดับ 5-8% จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 271,314 ล้านดอลล่าร์ ขณะที่การส่งออกในเดือน ม.ค. 2565 ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกราว 22,000 ล้านดอลล่าร์

ทั้งนี้ หากการส่งออกขยายตัวที่ระดับ 5% จะมีมูลค่าประมาณ 284,880 ล้านดอลลาร์ หรือมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,740 ดอลลาร์ แต่หากการส่งออกขยายตัวได้สูงถึง 8% จะมีมูลค่าประมาณ 293,020 ล้านดอลลาร์ หรือมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 24,418 ดอลลาร์

โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจมีผลต่อภาพรวมการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ 1.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงกรณีดังกล่าวส่งผลให้หมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น ในทางกลับกันส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทรวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก โดยคาดว่าราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะอยู่ที่ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล

2.แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งควรผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี เบื้องต้นควรปรับในระดับเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูง4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น และ 5.ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า สรท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อยกระดับ/กระตุ้นให้เกิด Trade activity ในลักษณะ Exhibition / Business matching ระหว่างกันให้มากขึ้น อาทิ จัดกิจกรรมเยือนซาอุดิอาระเบีย และประเทศเป้าหมายสำคัญรวมถึงเร่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศคู่เจรจาให้มากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งยกระดับการใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าเต็มรูปแบบ เช่น National Single Window ให้เป็น Single Submissionรวมถึงเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวก และช่วยลดต้นทุน อาทิ ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อยากขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เนื่องจากต้นทุนพลังงานคิดเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิต ราว 2-10% หากราคาพลังงานมีการปรับตัวสูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยตรง รวมถึงขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อื่น อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง

“การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 12,000 บาทดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำกำหนดไว้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากเกินไปอาจกระทบกับธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ในช่วงเวลานี้ อีกทั้งภาครัฐควรต้องส่งเสริม ยกระดับ upskill-reskill ให้กับแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมโดยเร็ว” นายชัยชาญ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรท. ยืนเป้าหมายส่งออกปี 66 หดตัว 0.5% ถึงโต 1%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม 2566

คาดส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 3-5%

“สรท.” คาดไตรมาส 1/66 ส่งออกไทยโตแผ่ว ลุ้นติดลบ 3-5% ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทุบหนักสุด มองทั้งปียังโตได้ 1-2% อานิสงส์เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวหนุนเต็มสูบ พร้อมอ้อน “แบงก์ชาติ” ทบทวนขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม ขอรัฐทยอยขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป

'สรท.'คาดส่งออกไทยปี 66 งานหินปัจจัยลบจ่อทุบหนัก

“สรท.” คาดปี 2566 ส่งออกไทยโตหน่วงที่ 2-3% เหตุปัจจัยลบรุมเร้าอื้อ จับตาจีนผ่อนคลายมาตรการโควิด-ดัชนี PMI สหรัฐฯ แผ่ว-เศรษฐกิจโลกชะลอ-ราคาน้ำมันพุ่ง-บาทแข็ง จ่อทุบหนัก พร้อมประเมินส่งออกปีนี้ยังโตได้ 7-8% วอน ธปท.คงดอกเบี้ยประคองภาคธุรกิจ รัฐทยอยขยับค่าไฟฟ้าแบบค่อยเป็นค่อยไป

‘สรท.’มองบวกลุ้นส่งออกไทยปีนี้โตถึง 10%

ส่งออกไทยปี 2565 มีลุ้นโตถึง 10% ยังรับบทพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังสัญญาณครึ่งปีหลังดีต่อเนื่อง จับตาปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อ-ราคาพลังงานสูง-ขาดแคลนวัตถุดิบ พร้อมอ้อน ธปท. คงดอกเบี้ยนโยบายหวังช่วยประคองภาคธุรกิจ ไม่ซ้ำเติมรายจ่ายประชาชน

เอกชนฟุ้ง 64 ส่งออกโตสะบัด 15% หวั่นทั่วโลกงัดล็อกดาวน์สู้โอมิครอน

“สรท.” ฟุ้งส่งออกไทยปี 2564 สุดแกร่ง ลุ้นโตกระฉูด 15% ส่วนปีนี้คาดขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5-8% อานิสงส์เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อย่าง สหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่อง เงินบาทอ่อนค่าช่วยหนุน พร้อมจับตาโอมิครอนระบาด หวั่นทั่วโลกงัดล็อกดาวน์สู้ และปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต อ้อนรัฐช่วยคุมต้นทุนพลังงาน