'กนง.' คงดอกเบี้ย 0.5%หนุนเศรษฐกิจยันไม่ขยับกรอบเฟ้อแม้พุ่งเกิน3%

“กนง.” เอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี หนุนเศรษฐกิจฟื้น ประเมินจีดีพีปี 64 โตดีเกินคาด ชี้สถานการณ์กลับมาปกติเหมือนก่อนช่วงโควิดได้ปลายปี 65 พร้อมย้ำไม่ปรับกรอบเงินเฟ้อ แม้ทะลุ 3% แจงเป็นแค่ปัจจัยชั่วคราว

9 ก.พ. 2565 – นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด ความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงลดลง แต่ยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท อาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี และมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากขึ้นหากราคาพลังงานและอาหารสดอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด หรือหากข้อจำกัดด้านการผลิตขยายวงกว้างขึ้นไปสู่สินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง

“กนง.ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน จึงเห็นว่าไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะไปฉุดเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ซึ่งการที่เงินเฟ้อโอกาสเกินกรอบ 3% ไปบ้างเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องชั่วคราว จากที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการเกินกรอบด้านต่ำ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีการปรับกรอบนโยบายเงินเฟ้อทันที” นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวอีกว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 จากการส่งออกสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกฐานจีดีพีปี 2564 เพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2565 ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ช่วงปลายปี 2565 – ต้นปี 2566

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กนง.ให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องไม่ให้สะดุด ส่วนเงินเฟ้อต้องจับตาไม่ให้ขยายวงกว้าง ไม่ฝังลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องใช้ยาแรงที่อาจกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ และ รายได้ประชาชน และการดูแลการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ที่ยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ ในช่วงโควิด-19

นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและช่วยลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 64) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' เซ็ง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ยถามสังคมแบบนี้ควรมีอิสระไหม!

'พิชัย' ผิดหวัง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แต่กลับไม่เดือดร้อน ชี้ไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติมากำหนดอัตราการเติบโต แนะอย่าอ้างว่าต้องอิสระบนความเดือนร้อนของประชาชน

เขย่าอีกรอบ 'พิชัย' จี้แบงก์ชาติเร่งลดดอกเบี้ย แถมยกข้อดีเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์

“พิชัย“ สนับสนุน “นายกฯ” จี้ แบงก์ชาติเร่งลดดอกเบี้ย ชี้ สวิส ลดก่อนแล้ว อังกฤษ เยอรมัน กำลังจะลด ไทยลดช้าจะเสียเปรียบ หนุน โครงการเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ สร้างรายได้เป็นแสนล้าน โดยนำรายได้สนับสนุนนักศึกษาไทยไปเรียนต่างประเทศ แต่ต้องระวังปัญหาทางสังคม