สกศ.วิเคราะห์โลกเปลี่ยนแปลงพลิกฝ่ามือ บีบไทยต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์ผลิตคน

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า จากการที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์โลกและสถานการณ์ประเทศไทยในการผลิตและพัฒนากำลังคน พบว่า จากผลงานวิจัยและสถานการณ์ต่างๆ ได้ก่อให้เกิดสถานการณ์ท้าทายในการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งสถานการณ์ท้าทายหลักมี 4 เรื่อง ดังนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมที่รวดเร็ว ผันผวน และซับซ้อน (VUCA World) จึงจำเป็นต้องวางแผนเพื่อลดความไม่แน่นอน และให้ความสำคัญกับความคิดเชิงนวัตกรรมกระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจที่รวดเร็ว 2.สังคมสูงวัย เป็นสถานการณ์ท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันแต่ความพร้อมในการรับมือแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยภาวะนี้เป็นความท้าทายสูงมาก เนื่องจากมีแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อปี 2561 สูงถึง 21.2 ล้านคน (55.49) ประกอบกับอัตราการเกิดลดลงด้วยอัตราเร่ง ซึ่งจะทำให้อัตราการพึ่งพิงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและการผลิตและพัฒนาคนของประเทศอย่างแน่นอน

3.ดิจิทัลดิสรัปชั่น มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เคยใช้เวลาประมาณ 600 ปีในการก่อตัว จะถูกย่นลงมาให้เหลือแค่ 30 ปี ราวกับโลกหมุนเร็วขึ้น 20 เท่า และช่วงประมาณปี 2000-2040 โลกจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการปฏิบัติหุ่นยนต์ด้านเทคโนโลยีและอาชีพ ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ จึงส่งผลต่อเนื่องในการพัฒนาคนให้มีทักษะใหม่ๆ ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จากรายงานของ WEF เรื่อง Future of Jobs Report 2020 นายจ้าง 4396 ระบุว่าภายใน ปี 2025 จะลดจำนวนพนักงานลง เนื่องจากมีการบูรณาการเทคโนโลยีในการทำงาน รวมทั้งนายจ้าง 849 ระบุว่าจะนำดิจิทัลมาใช้ส่งผลให้รูปแบบการทำงานทางไกลจะเพิ่มสูงขึ้น

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า และ 4.ผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นผลกระทบที่รวดเร็ว กว้างขวางกับทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา รวมทั้งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วิถีใหม่เร็วขึ้น คือเป็นการเร่งให้เผชิญความท้าทายที่มีอยู่เดิมเร็วขึ้นด้วย จึงถือว่าเป็นผลกระทบที่รุนแรงมาก โดยผลกระทบที่เกิดกับระบบการศึกษาทันที มีงานวิจัยรองรับจำนวนมากทั้งจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ EDUCA สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ สสส. และศูนย์วิจัยกสิกรไทย สอดคล้องกันว่า 1.เกิดครอบครัวยากจนเฉียบพลันจากการตกงาน ซึ่งส่งผลให้มีเด็กด้อยโอกาสที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น 2.ความไม่พร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา

โดยผลวิจัยมีครูที่ประเมินว่าตนเองไม่สามารถสอนออนไลน์ได้เลยถึงร้อยละ 1.5 และครูที่พร้อมสอนออนไลน์ประเมินว่าพร้อมระดับปานกลางเท่านั้นถึงร้อยละ 58.2 และต้องการพัฒนาทักษะด้านการผลิตสื่อการเรียนรู้ถึงประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ ทั้งครูและผู้ปกครองประเมินว่านักเรียนพร้อมที่จะเรียนออนไลน์ราวร้อยละ 45 เท่านั้น ในขณะเดียวกันทั้งครูและผู้ปกครองมากกว่าร้อยละ 70 ระบุว่า ขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ และ 3.ส่งผลกระทบต่อนักเรียนทั้งในด้านสุขภาพกาย โดยมีนักเรียนมากกว่าร้อยละ 70 บางประเด็นมากถึงเกือบร้อยละ 80 ที่ระบุว่ามีการปวดตา เมื่อย ออกกำลังกายน้อยลง และส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยนักเรียนร้อยละ 75 ระบุว่าวิตกกังวลเครียด และมีนักเรียนเบื่อหน่ายไม่อยากเรียนมากถึงร้อยละ 68

“จากประเด็นความท้าทายที่เผชิญอยู่เดิมกับสถานการณ์ซ้ำเติมจากโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนากำลังคนหรือแรงงานไทยทั้งระดับล่าง ระดับกลางและระดับสูง ให้มีสมรรถนะสูง การ Re-skills และUp-skills จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในขณะเดียวกันต้องวางระบบสำหรับการพัฒนาระยะยาว ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่อง เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และพัฒนาให้มีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”เลขาฯ สกศ.กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง