สรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ชวน ลูกศิษย์ทั่วประเทศ เสนอชื่อครูผู้มีคุณูปการต่อวงการศึกษา

29 ส.ค.2565-ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานแถลงข่าวการสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า บทบาทของครูนับเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่นักเรียนต้องเผชิญกับภาวะสูญเสียการเรียนรู้ หรือ Learning Loss จากการปิดสถานศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรายงานของยูเนสโก ร่วมกับยูนิเซฟ และธนาคารโลก พบว่า มีเด็กอย่างน้อย 1.6 พันล้านคน ใน 188 ประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการเรียนรู้ มาตรการของกระทรวงศึกษาธิการคือการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย และ “ครู” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วย 3 มาตรการที่สำคัญคือ 1. ครูเป็นผู้ที่สามารถประเมินความรู้และทักษะของนักเรียนเพื่อการพัฒนารายบุคคล เพราะนักเรียนมาจากความพร้อมของครอบครัวและความสามารถในการเรียนรู้ที่ต่างกัน 2. ครูจะต้องมีทักษะในการสอนเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้นักเรียน เช่น ใช้กระบวนการสอนเสริมนอกเวลาเรียน หรือการซ่อมเสริมพิเศษในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อให้สามารถเติมเต็มความรู้ได้ทัน และ 3. ครูควรมองเห็นและระบุปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ สังคมของนักเรียนซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤติของโรคระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม โดยสามารถให้คำปรึกษาในเบื้องต้น หรือส่งต่อไปยังหน่วยงานทางสาธารณสุข

“บทบาทครูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกู้วิกฤติภาวะสูญเสียการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้ทั่วโลก จึงขอเป็นกำลังใจให้กับครู และเป็นโอกาสอันดีที่สังคมจะร่วมกันยกย่อง เห็นคุณค่าครูผู้อุทิศตนเป็นแบบอย่าง จึงขอเชิญชวนลูกศิษย์และคนในสังคมร่วมกันเสนอชื่อครูในรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในครั้งนี้”รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา และเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อการศึกษา ในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยจะมีการสรรหาในทุก 2 ปีครั้ง ประเทศละ 1 รางวัล จากความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ สำหรับการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2565 ในส่วนของประเทศไทย กลไกการสรรหาจะงประกอบด้วย คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง เพื่อร่วมกันสรรหาครูผู้มีคุณสมบัติ เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา โดยมีประสบการณ์สอนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นครูหรือเคยเป็นครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเคยเป็นครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่เป็นครูสอนพิเศษเป็นอาชีพหลัก

“การสรรหาครูในครั้งนี้จะเปิดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อครูมาจาก 5 กลุ่ม คือ 1. ลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่า อายุไม่น้อยกว่า 25 ปี 2. สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. สมาคม มูลนิธิ องค์กรซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ 4. คณาจารย์ในระดับอุดมศึกษา รวมกันไม่น้อยกว่า 3 คน ทั้ง 4 กลุ่มนี้เสนอชื่อครูมาที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด หรือ www.PMCA.or.th และกลุ่มที่ 5 คือ องค์กรที่มีการพิจารณาคัดเลือกครูทั้ง 7 แห่ง โดยจะมีการเปิดรับการเสนอชื่อได้นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง ต.ค. 2565 และจะมีการพิจารณาตัดสินในวันที่ 18 เม.ย. 2566 เพื่อเข้ารับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ซึ่งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะประกอบด้วย เหรียญทอง เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน เกียรติบัตร โล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในประเทศไทยมีรางวัลเพิ่มเติมได้แก่ รางวัลคุณากร 2 รางวัล รางวัลครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และรางวัลครูขวัญศิษย์ เพื่อเชิดชูครูในแต่ละจังหวัด จึงถึงเวลาแล้วที่ลูกศิษย์ทั่วประเทศจะมาร่วมกันระลึกถึงครูที่เปลี่ยนแปลงชีวิตและทุ่มเททำงาน โดยเสนอชื่อครูมาที่ www.PMCA.or.th” ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว

ด้านนายบูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า บทบาทของครูคุณภาพ ย่อมส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สำคัญและไปถึงห้องเรียนได้เร็วที่สุดคือ การปฏิรูปครู การสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเป็นการสร้างค่านิยมของสังคมที่ร่วมกันเห็นคุณค่าครูที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชีวิตลูกศิษย์เป็นสำคัญ ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในฐานะองค์กรร่วมให้การสนับสนุน ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนการดำเนินงานสรรหาแล้ว จะมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้งในประเทศรวมทั้งในอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รมช.สุรศักดิ์” ร่วมถก การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ฯ

เมื่อวันศุกร์ ที่ 5 เมษายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย ครั้งที่ 1/2567 ที่

“รมช.สุรศักดิ์” เปิดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Kick Off Soft Power

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Kick Off Soft Power

"เสมา1" มอบ สพฐ. ใช้ระบบไอทีทำใบ ปพ.5 ช่วยลดขั้นตอนเอกสารของครูผู้สอน ใบสำคัญด้านการศึกษา หวังก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายลดภาระครู ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลุดกรอบการทำเอกสารของครูผู้สอนแบบเดิม

"รมช.สุรศักดิ์" ลงพื้นที่เมืองเชียงราย​ ลุย​ รับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคจากหน่วยงานทางการศึกษา​ ก่อนนำข้อมูลเสนอต่อ​ที่ประชุม​ ครม.

เมื่อวันจันทร์​ ที่ ​18 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์​ พันธ์​เจริญ​ว​ร​กุล​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุม​ ครม.สัญจร​ ณ โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม อ.เทิง จ.เชียงราย​ โดยมี​ นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล)

ครูเฮ! คืนครูให้นักเรียนทั่วประเทศลดภาระครู “เสมา 2” เผย ศธ.ชงงบจ้างภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด ดีเดย์ 1 พ.ค.นี้

เมื่อวันพุธ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการเสนอของบประมาณสนับสนุนให้จัดสรรนักการภารโรงให้สถานศึกษาทั่วประเทศ

“รมช.สุรศักดิ์” ลงพื้นที่เกาะติดการศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาอุปสรรค ลั่นเรื่องไหนขับเคลื่อนเร่งด่วนได้ทำทันที พ

เมื่อวันจันทร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดอาคารเรียนแบบพิเศษ