สปสช.ย้ำสิทธิใส่รากฟันเทียม ต้องถึงขั้นใส่ฟันปลอมไม่ได้แล้วถึงผ่าตัดใส่รากฟันเทียม

29ต.ค.2565-ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) กล่าวถึงบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ไม่มีฟันทั้งปากในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 ตามโครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ว่า สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท) มีทั้งสิทธิทำฟันเทียมหรือที่เรียกง่ายๆ ว่าฟันปลอม และสิทธิการทำรากฟันเทียม โดยกรณีรากฟันเทียม คณะกรรมการ สปสช. ได้อนุมัติให้เป็นสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2564 และเริ่มดำเนินการจริงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของการทำฟันเทียมนั้น ขณะนี้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ได้จัดให้เป็นสิทธิประโยชน์แล้ว แต่ในส่วนของรากฟันเทียม ขณะนี้ยังมีเฉพาะสิทธิบัตรทองและไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคน แต่มีเงื่อนไขคือผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่สูญเสียฟันทั้งหมดของขากรรไกรบนและ/หรือขากรรไกรล่าง และมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรมากจนไม่สามารถใส่ฟันเทียมตามวิธีปกติได้ หรือใส่ฟันปลอมทั้งปากแล้วหลวม/หลุดและทันตแพทย์ไม่สามารถแก้ไขได้แล้วจึงจะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม 

ทพ.อรรถพร เน้นย้ำว่า การจะใส่รากฟันเทียมได้ ผู้ป่วยจะต้องทำฟันปลอมก่อน เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้รู้ว่าเมื่อใส่ฟันปลอมแล้วสามารถใช้งานได้ บดเคี้ยวอาหารได้มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากใส่แล้วไม่มีปัญหา สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่รากฟันเทียม แต่หากใส่ฟันปลอมแล้วหลวม หลุดง่าย ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์จะทำการปรับแก้ จนกระทั่งไม่สามารถปรับแก้ได้แล้ว จึงจะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม 

“ขั้นตอนการรับสิทธิ ผู้ป่วยก็ไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำตามปกติ หากหน่วยบริการนั้นรักษาไม่ได้ ทันตแพทย์จะแนะนำให้ไปรับบริการในหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดได้ประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ และการไปรับบริการก็ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวแต่อย่างใด”ทพ.อรรถพร กล่าว 

ทั้งนี้ รากฟันเทียมที่ใช้สำหรับสิทธิบัตรทองนั้น จะเป็นรากฟันเทียมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม ซึ่งผลิตโดยบริษัทคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดซื้อแทน สปสช. จากนั้นสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จะเป็นผู้จัดการกระจายรากฟันเทียมเหล่านี้ไปที่ Center ของแต่ละจังหวัด เมื่อมีการให้บริการเกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการแบบเหมาจ่าย 17,500 บาท/ราย และยังมีค่าติดตามการรักษาปีที่ 1 เหมาจ่าย 700 บาท/ครั้ง ปีที่ 2-5 เหมาจ่ายปีละ 2,800 บาท โดยมีการติดตามการรักษาอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน