จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจโควิด ' RT-LAMP แบบ 3 ยีน' ใช้น้ำลายแม่นยำถูกกว่า RT PCR ถึง 5 เท่า

16พ.ย.2564- รศ.ดร.นราพร สมบูรณ์นะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ หัวหน้าโครงการพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP เปิดเผยว่า ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP ที่พัฒนาขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยโควิด-19 เช่นเดียวกับวิธีReal Time PCR  ( RT PCR )  โดยได้เพิ่มความพิเศษในการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสแบบ 3ยีน ซึ่งครอบคลุมวงจรชีวิตของไวรัส ทำให้มีความไวในการตรวจสูงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการตรวจที่ยุ่งยาก ไม่มีราคาแพงเหมือนRT PCR  สามารถตรวจหาเชื้อโควิด ได้ทั้งจากโพรงจมูก ลำคอ รวมถึงน้ำลายและวัตถุต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ จึงเหมาะสำหรับการลงพื้นที่ไปตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชน โรงเรียนรวมถึงสถานประกอบการต่างๆ 

ขั้นตอนการตรวจด้วยวิธี RT-LAMP  สามารถตรวจจากน้ำลายของกลุ่มเสี่ยงในปริมาณ 5 มิลลิลิตร จะใช้น้ำลายจริงเพียง 1 มิลลิลิตรนำมาสกัดสารพันธุกรรม จากนั้นเป็นขั้นตอนการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมและเข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์ผล เครื่องมือในการตรวจราคาไม่แพง สูตรสำเร็จของชุดตรวจนี้อยู่ที่การทำปฏิกิริยา ภายในชุดทดสอบ สามารถเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมทั้ง DNA และ RNA ที่อุณหภูมิ 85องศาเซลเซียส มีความไวในการตรวจวัดสูง สามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลา 1 ชั่วโมง   จุดเริ่มต้นของชุดตรวจ RT-LAMP แบบ 3 ยีน 

รศ.ดร.นราพร กล่าวว่า ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดหนัก ห้องปฏิบัติการของภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯได้พัฒนาชุดตรวจด้วยเทคโนโลยีการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยอุณหภูมิเดียว เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่หลากหลายรวมถึงการตรวจการปนเปื้อนในอาหาร สำหรับชุดตรวจ RT-LAMP แบบ 3 ยีน เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์     จุฬาฯ และCU Innovation Hub เพื่อพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ที่ตอบโจทย์ความแม่นยำ        ใช้ง่าย และราคาถูก  เนื่องจากปัจจุบันชุดตรวจ RT-LAMP ที่มีการใช้กันนั้น มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการตรวจแบบ 2 ยีน แต่ RT- LAMP ที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นนั้นสามารถตรวจยีนที่หลากหลายได้ 3 ยีนพร้อมกัน ทำให้เพิ่มความไวในการตรวจพบเชื้อโควิด มีศักยภาพทั้งในการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม และสามารถแสดงผลการตรวจโควิดจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสี ได้ด้วยตาเปล่า ขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยากซับซ้อนผู้ใช้งานสามารถตรวจเชื้อโควิดได้ด้วยตนเองโดยได้รับคำแนะนำ จากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยลดภาระของบุคลากรทางแพทย์ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าการตรวจแบบ  RT-PCR ถึง 5 เท่า

 “จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างทางคลินิกของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ และการลงพื้นที่ตรวจในภาคสนามในกลุ่มตัวอย่างจริง โดยตรวจสารคัดหลั่งจากน้ำลายและวัตถุต่างๆ จากสภาพแวดล้อมในพื้นที่บริเวณนั้น เช่น ลูกบิดประตู ที่กดชักโครกรวมถึงธนบัตร เมื่อนำผลตัวอย่างมาเทียบเคียงกับการตรวจแบบ RT PCR ได้ผลการยืนยันประสิทธิภาพที่แม่นยำว่องไวและเที่ยงตรงเช่นเดียวกันแผนงานที่วางไว้จะทำการเก็บสารคัดหลั่งจากกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมอีก2,000 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพเพิ่มเติม” รศ.ดร.นราพรกล่าว

 นอกจากการนำชุดตรวจโควิดด้วยวิธี RT-LAMPไปใช้งานในภาคสนามซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับทีมวิเคราะห์กลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในอนาคตมีแผนในการผลิตชุดตรวจโควิดด้วยวิธี     RT-LAMP ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการเตรียมสถานที่ในการผลิตชุดตรวจและจะลงพื้นที่ไปตรวจกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น 

“โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องอนาคตอาจมีการกลายพันธุ์หรือเกิดการระบาดในรูปแบบอื่นๆ ได้การที่ประเทศไทยสามารถผลิตชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMPที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสได้แบบ 3 ยีนโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจะช่วยลดปัญหาการระบาดที่รวดเร็วของโรคนี้ลงได้ ในขณะที่การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีมาตรฐานคือ RT PCR มีราคาแพง ประชาชนอาจไม่สะดวกที่จะต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีการตรวจ ในขณะที่วิธี RT-LAMP สามารถเข้าถึงชุมชน และตรวจพบผู้ติดเชื้อในระยะเริ่มต้นได้แม้จะมีเชื้อโควิดในร่างกายน้อย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ะบาดของโควิด-19 ในระยะยาวได้” รศ.ดร.นราพรกล่าว 

สำหรับผู้ที่สนใจให้การสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจ “RT-LAMPแบบ 3 ยีนของจุฬาฯ สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.นราพร สมบูรณ์นะภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อีเมล:[email protected] โทร. 02-218-5070-1 หรือที่บริษัท AL-DNA Startup ของ CU Innovation Hub อีเมล: [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอโอ๋' มองดราม่าอัญเชิญพระเกี้ยว อย่าเห็นคนรุ่นใหม่เป็นศัตรู ขอให้รู้ผู้ใหญ่จะตายก่อน

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่าด้วยเรื่องอัญเชิญพระเกี้ยว

'ดร.นิว' ถามอธิการบดี จะเลือกรักษาเกียรติภูมิของจุฬาฯ หรือ วิทยานิพนธ์ชี้นำความคิดล้มล้างฯ

จากกรณีศาลอาญายกฟ้อง อ.ไชยันต์ ไชยพร คดีหมิ่นประมาท นายณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี"