สปสช.จัดช่องให้บริการถุงยางอนามัย-ยาเม็ดคุมกำเนิด ทุกเพศอายุ 15 ปีขึ้นไป ดีเดย์ 1 ก.พ.

27 ม.ค.65- นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการให้บริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานและถุงยางอนามัย ปีงบประมาณ 2565 ว่า บริการดังกล่าวเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งในปีนี้ สปสช. ได้เพิ่มจุดให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย (Safe sex) สำหรับจุดให้บริการ คือ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย คลินิกการพยาบาลฯ ร้านขายยา โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเวชกรรม และหน่วยบริการปฐมภูมิ

นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะให้บริการสำหรับหญิงไทยทุกสิทธิ อายุระหว่าง 15-59 ปี โดย ผู้รับบริการสามารถรับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ครั้งละไม่เกิน 3 แผง คนละไม่เกิน 13 แผง/ปี โดยรับบริการได้ 2 วิธี 1) กรณีมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน สามารถขอรับยาคุมกำเนิด ในแอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกบริการสร้างเสริมสุขภาพ เลือกหน่วยบริการที่จะไปรับ จองสิทธิ และไปรับภายในวันที่จองสิทธิ 2)กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน ให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ

ส่วนถุงยางอนามัย จะให้บริการแก่คนไทยทุกสิทธิอายุ 15 ปีขึ้นไป รับบริการได้ครั้งละ 10 ชิ้น/ สัปดาห์ รอบการจ่าย 7 วัน รับได้ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนถุงยาง/คน/ปี วิธีการรับคือ ใช้สมาร์ทโฟน Add Line สปสช. แล้วสแกน QR code ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการแจกถุงยางอนามัย (ดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช.) เพื่อรับถุงยางอนามัยตามไซส์ มีให้เลือก 4 ไซส์ คือ 49 มม., 52 มม., 54 มม. และ 56 มม

ทั้งนี้ การให้บริการยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 นี้เป็นต้นไป ส่วนถุงยางอนามัยจะเริ่มให้บริการในช่วงเดือนเมษายน 2565

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน