วิจัย'บ้านสู้ฝุ่น' คืนอากาศสะอาดให้เชียงใหม่

บ๊อช ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณชุมชนหมื่นสาร

ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี จังหวัดเชียงใหม่ ต้องประสบปัญหาฝุ่นควันปกคลุม  โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และความเสียหายทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจำนวนมาก  สาเหตุหลักของฝุ่นควัน  รับรู้กันว่า เกิดจาก การเผาในพื้นที่ป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง และมลพิษทางอากาศจากเครื่องยนต์ รวมถึงปัญหาหมอกควัน ไฟป่าจากพื้นที่ข้างเคียง ปริมาณมากจนสะสมกลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า PM 2.5

ทางด้านรัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่นควันที่บางปีถึงขั้นวิกฤต โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ให้การแก้ปัญหาPM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ  และมอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนใน  3 มาตรการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ


ขณะที่ คนภาคเหนือได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหากันเอง ด้วยการตั้ง 9 ภาคีสภาลมหายใจภาคเหนือ   ได้แก่ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจน่าน สภาลมหายใจพะเยา สภาลมหายใจแพร่ สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจลำปาง และสภาลมหายใจลำพูน เพื่อร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศภาคเหนือ  


โดยเฉพาะสภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่เจอปัญหาฝุ่นควันพิษหนักสุด ได้ทำข้อเสนอ8 ข้อ ที่ดำเนินการในปี 2565   ดังนี้ 1.ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกตำบลใน 8 จังหวัดภาคเหนือ 2.สร้างเวทีการมีส่วนร่วมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี 3.ใช้มาตรการเชิงรุกเปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่น 4.จัดการไฟป่าชุมชนและท้องถิ่น โดยกำหนดมาตรการระดับพื้นที่ และสร้างพื้นที่ต้นแบบทุกจังหวัด 5.พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง เท่าเทียม 6.แก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเชิงรุก ที่เกิดจากพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม 7.ส่งเสริม พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผลักดันสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชนตามกฎหมาย และ 8.รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนต่อเนื่องตลอดทั้งปี เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพเป็นสาธารณะ  

“DustBoy” อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากม.เชียงใหม่

ในประเด็นการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อหาต้นตอของฝุ่น ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรเป็นหลัก เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช  ประเทศไทยได้จับมือสภาลมหายใจเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนับสนุนโครงการวิจัย”บ้านสู้ฝุ่น”  ที่เป็นโครงการต้นแบบ ในการจัดการพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกพรรณไม้สู้ฝุ่นภายในครัวเรือน เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหามลภาวะรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย  

อีกมุมเครื่องตรวจวัดอากาศDustboyของ ม.เชียงใหม่

โดย”บ๊อช “ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละออง  ในบริเวณชุมชนหมื่นสาร  ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่   เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อวัดค่าคุณภาพอากาศ  โดยพุ่งเป้าไปที่ระดับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5  ในบริเวณพื้นที่รอบชุมชนหมื่นสาร   นอกจากนั้น  ยังร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสนับสนุนการติดตั้งเครื่อง “DustBoy” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย


สำหรับ การทำงานของเครื่อง วัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองของบ๊อชนั้น สามารถเก็บข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศในพื้นที่วิจัยแบบเรียลไทม์  ที่สำคัญ ยังเป็นการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของดัชนีคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นละอองอีกด้วย ซึ่งข้อมูลที่จะได้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุได้ว่า ฝุ่นที่เกิดขึ้นนั้นมีต้นตอจากสาเหตุอะไร และการปลูกพรรณชนิดใดที่จะสามารถดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กในบริเวณนั้น ๆ ได้  

ในเรื่องของพรรณไม้ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น เบื้องต้นผลวิจัยบ่งชี้ว่า พืชพรรณบางชนิดที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น มีลักษณะของใบเรียวเล็ก ผิวหยาบ มีขน และเหนียว มีลำต้นและกิ่งก้านพันกันสลับซับซ้อน และพืชที่มีใบขนาดเล็กจำนวนมาก สามารถช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ ผลการศึกษาวิจัยนี้ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อลดผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีอากาศที่ดีขึ้น

มร. โจเซฟ ฮง  ผู็บริหารบ๊อช ในไทย ลงพื้นที่บริเวณครัวเรือนอาสาสมัครในชุมชนหมื่นสาร  

โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย และประเทศลาว กล่าวว่า บ๊อซ ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองของบ๊อชนับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้คนและสภาพแวดล้อม จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นวัตกรรมของบ๊อชสามารถช่วยสนับสนุนการสร้างอนาคตที่มาพร้อมอากาศบริสุทธิ์ให้เป็นจริงได้

อินทิรา ปาร์ค  ผู้จัดการสื่อสารองค์กรประจำประเทศไทย บริษัท   โรเบิร์ต บ๊อช  ประเทศไทย   กล่าวว่า บ๊อช ดำเนินงานภายใต้พื้นฐานความยั่งยืนและให้ความสำคัญกับอากาศสะอาด  ส่วนการร่วมแกัปัญหาฝุ่นคว้นที่เชียงใหม่ ปัจจัยหลักมองว่าเชียงใหม่มี ปัญหาเรื่องPM  2.5  สาหัสมาก ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายแกัปัญหาที่ดี   และยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ภาคเหนือ   จึงคิดว่าเป็นชัยภูมิที่ดีในการศึกษาเรื่องนี้  ตลอดจน โซลูชั่นเครื่องวัดคุณภาพอากาศของบ๊อช ยังสามารถวัดค่าฝุ่นได้ในเชิงลึก แยกแยะได้ว่าฝุ่นที่ล่องลอยในอากาศนั้น เกิดจากการเผาไหม้ตามพื้นที่ต่างๆ  หรือมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เพราะต้องยอมรับว่าเมืองเชียงใหม่เอง มีปัญหาการจราจรหนาแน่นมาก มลภาวะจากรถยนต์ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาฝุ่นด้วยเช่นกัน

สภาลมหายใจเชียงใหม่หารือการแก้ปัญหา



” ในการทำกิจกรรมบ้านสู้ฝุ่น ต้องขอบคุณ ม.เชียงใหม่ ที่ทำให้เรารู้จักสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งมีเจตนาตรงกันในเรื่อง การสื่อสารเรื่่องอากาศสะอาดเหมือนกับบ๊อช  ตลอดจนเชียงใหม่มี pain point  เรื่องมลภาวะทางอากาศ ที่ย่ำแย่มาหลายปี จึงคิดว่า โซลูชั่นของบ๊อช ที่สามารถวัดค่าฝุ่นได้เชิงลึก หลากหลาย น่าจะช่วยวิจัยปัญหานี้ได้  แม้จะยังไม่ได้ผลสรุป เพราะติดขัดปัญหาทางเทคนิคบางประการ  ซึ่งทางบ๊อช ที่เยอรมันกำลังดูให้  แต่ตามแผนจะต้องสามารถเห็นข้อมูลได้ทุกจุดที่มีการติดตั้งเครื่องวัด  โดยโครงการที่ร่วมทำกับ ม.เชียงใหม่ จะเป็นโครงการนำร่อง ในอนาคตบ๊อชอาจร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป”

รถไฟฟ้าออกเดินทางไปยังชุมชนหมื่นสารเพื่อแจกจ่ายพรรณไม้สู้ฝุ่น


อินทิรา บอกอีกว่า ไม่ได้มีแต่ที่เชียงใหม่เท่านั้น ก่อนหน้านี้ บ๊อช ก็มีประสบการณ์นำเทคโนโลยีวัดค่าฝุ่น ไปติดตั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมาแล้ว โดยติดตั้งไป 20 ตัว ข้อมูลที่ได้ สามารถลิงค์ กับกล้องวงจรปิดหลายชุด และนำข้อมูลมาแก้ปัญหาฝุ่น โดยใช้การปล่อยไฟจราจรมาเป็นตัวช่วย  และข้อมูลนี้ยังสามารถนำมาใช้เพื่อวางผังเมืองได้อีกด้วย หรือนำไปใช้กับปัญหาอื่นๆ ขึ้นกับบริบทของแต่ละพื้นที่


“บ๊อชเอง เราเป็นผู้นำผลิตส่วนประกอบรถยนต์  Neutral Technology    และมุ่งมั่นเรื่องทำอากาศสะอาดขึ้น ในช่วง 10-15 ปี ข้างหน้าก่อนที่รถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลาย  เราก็จะขอมีส่วนร่วมทำอากาศสะอาดไว้ก่อน”อินทิรากล่าว

รศ.ดร. สมพร จันทระ


รศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือกับ บ๊อช ทำให้เราเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงช่วยให้เราสามารถศึกษาและบอกได้ว่าการปลูกพรรณไม้สู้ฝุ่นมีส่วนช่วยทำให้คุณภาพอากาศในบริเวณนั้น ๆ ดีขึ้นได้มากน้อยอย่างไร

ส่วนหนึ่งของครัวเรือนอาสาสมัครในชุมชนหมื่นสารที่เข้าร่วมโครงการ “บ้านสู้ฝุ่น

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า “โครงการ “บ้านสู้ฝุ่น” มีเป้าหมายที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศ หากทุกภาคส่วนช่วยกันแล้ว เราจะสามารถตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และทำให้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่อีกครั้ง

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่


มร.ฮง กล่าวปิดท้ายว่า  เทคโนโลยีขับเคลื่อนของบ๊อช ถือว่าสอดคล้องไปกับทิศทางการขยายตัวของสังคมเมืองทั้งในประเทศไทย และในระดับโลก  ที่ต้องมีทั้งความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความยั่งยืน รวมไปถึงสามารถปกป้องชีวิตและสุขภาพของเราได้ ซึ่งความยั่งยืนนั้นเป็นแนวคิดหลักของผลิตภัณฑ์ของบ๊อช  ที่ต้องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น  ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้คนอย่างยั่งยืน

มร. โจเซฟ ฮง  ลงพื้นที่ ไปเชัยงใหม่ดูการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สวมชุดชาติพันธุ์ลีซู ยัน ดันร่างพ.ร.บ. ชาติพันธุ์เข้าสภา ก.ค.นี้

นายกฯ สวมชุดชาติพันธุ์ลีซู เปิดงานกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมท่องเที่ยววิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์ ยันรัฐบาลให้ความสำคัญความเสมอภาคเท่าเทียม ดันร่างพ.ร.บ. ชาติพันธุ์เข้าสภาไม่เกินก.ค.นี้

'โรม' ซัดรัฐบาลหลอกประชาชนชัดเจนเรื่องทักษิณป่วย!

'โรม' แซะสุขภาพ 'ทักษิณ' ชี้สังคมคาใจป่วยจริงหรือ รบ.หลอก เสี้ยมเพื่อไทยเลือกปฏิบัติ นายใหญ่-เศรษฐา จวก โทนี่ได้กลับไทย เป็นอภิสิทธิชน ไม่ได้เกิดกับทุกคน

นักการเมือง-ข้าราชการแห่ต้อนรับ 'นักโทษทักษิณ' เหยียบเมืองเชียงใหม่

'ทักษิณ' สีหน้าสดใส ควง 'อุ๊งอิ๊ง' ชมอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ 'อดีตนายกฯสมชาย -เจ๊แดง-ธรรมนัส' รอรับ เจ้าตัวบอกเชียงใหม่เหมือนเดิม

พุทธศาสนิกชนกว่าแสนคน หลั่งไหลเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ที่เชียงใหม่

บรรยากาศในการสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากประเทศอินเดีย ที่ประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ หอคำหลวง ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

'สหายอ้วน' บอกอย่าคิดไกลปวดหัวเรื่อง 'ทักษิณ' ปิ๊กเชียงใหม่

'ภูมิธรรม' บอก น่าเห็นใจ หลัง 'ทักษิณ' จ่อขออนุญาตกลับเชียงใหม่ ชี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ จากบ้านเมืองไปหลาย 10 ปี ก็อยากกลับไปเยี่ยมบรรพบุรุษ ขออย่าไปคิดไกลโยงการเมือง บอกมันปวดหัว

'เชียงใหม่' ยังอ่วม pm2.5 พุ่งสูงสุด จ่อชงข้อมูลนายกฯในครม.สัญจร

สถิติการเกิดไฟป่าใน เชียงใหม่ เริ่มเกิดมากขึ้นต่อเนื่องระยะนี้ทางศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมประชุมประเมินพร้อมรวบรวมข้อมูลทุกด้านเพื่อรายงานตอนนายกรัฐมนตรี