ปลูก’ไม้ยืนต้น’ สร้างกำแพงกรองฝุ่น กทม.

เมื่อนึกถึงตัวช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 คนส่วนใหญ่มักนึกถึงอุปกรณ์ทันสมัยอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องกรองอากาศดีๆ แต่ว่ายังมีอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญให้คนกรุง ก็คือ ต้นไม้ จุดเด่นของต้นไม้คือ ดักจับฝุ่นละอองในอากาศโดยไม่ต้องใช้พลังงาน พร้อมให้ความร่มรื่นจากต้นไม้สีเขียวขจี เพิ่มความเย็นสบายให้กับเมือง นอกจากนี้ ต้นไม้ยังประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องฟอกอากาศไม่มีอีกด้วย

มีงานวิจัยน่าสนใจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เผชิญปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ทุกปีเมื่อฤดูกาลฝุ่นมาเยือน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกจัดให้เป็นสารมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ ทำให้คนตายก่อนวัยอันควร และเป็นสาเหตุอันดับสองของการเกิดโรคมะเร็งปอด การศึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรมลดฝุ่นจึงพิษจึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก

รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ รศ.ดร.กัญจน์  ศิลป์ประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกันศึกษาวิจัย ”การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. )   ถือเป็นงานวิจัยแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะส่งผลให้งานวิจัยชิ้นนี้จัดแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

จากประสบการณ์ทีมวิจัย ซึ่งมีความชำนาญด้านการใช้ต้นไม้ฟอกอากาศเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากว่า   10 ปี มีความคิดริเริ่มผลักดันองค์ความรู้ที่สะสมมาให้ถูกนำไปใช้จริง ก่อนหน้านี้ ศึกษาวิจัย”ไม้ประดับบำบัดมลพิษ” ต่อด้วยวิจัย”กำแพงต้นไม้บำบัดมลพิษชนิดควบคุมตัวเองอัตโนมัติ”  เกิดนวัตกรรมช่วยลดฝุ่น สร้างพื้นที่สะอาดให้ชุมชนเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลงานต้นไม้ยืนต้นบำบัดฝุ่นPM 2.5  คณะวิจัยคัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ที่มีอากาศร้อนไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ใช้พืชเมืองหนาว ,ศึกษากลไกการตอบสนองของต้นไม้ต่อฝุ่น ลักษณะทางกายภาพของต้นไม้เช่น ลักษณะใบ ขนาดของใบที่มีส่วนในการส่งเสริมการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ทั้งยังศึกษาการเปลี่ยนของโปรตีนเนื่องจากความเครียดของต้นไม้ที่ได้รับฝุ่นพิษผ่านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ ก็พบว่า ต้นไม้มีการสร้างโปรตีนช่วยลดความเครียดเพิ่มขึ้น มีการสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง ทั้งยังจำลองรูปแบบการจัดวางต้นไม้เพื่อศึกษาความสามารถในการดักจับฝุ่นของต้นไม้ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยพบว่า  ต้นไม้ที่มีขนาดใบเล็ก จำนวนใบมาก มีใบขรุขระ มีเส้นใบและขนใบมากจะช่วยในการดักจับฝุ่นได้ดี  เช่น ต้นโมก กัลปพฤกษ์ พะยุง นีออน จามจุรี หมากเหลือง ทรงบาดาล แก้ว และอินทนิล เป็นต้น แล้วยังพบขนาดใบที่เล็ก และความหนาแน่นสูง ช่วยชะลอความเร็วลมลดลง ทำให้ฝุ่นตกลงพื้น ขณะที่ต้นไม้คายน้ำ ฝุ่นละลายน้ำได้ มีข้อสรุปด้วยว่า การจัดวางต้นไม้ใหญ่และต้นไม้พุ่มเป็น 2 ชั้นที่ห่างกันอย่างเหมาะสมจะช่วยดักจับฝุ่นละอองได้มากกว่าร้อยละ 60 ด้วย

รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร   นักวิจัย มจธ. กล่าวว่า จากองค์ความรู้งานวิจัยที่สะสมมาตั้งแต่ไม้ประดับมีประสิทธิภาพในการบำบัดสารมลพิษในอากาศ สารอินทรีย์ระเหยที่ปนเปื้อนในอากาศ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ก็พบพืชหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ เช่น กวักมรกต ลิ้นมังกร พลูปีกขนนก คล้าแววมยุรา พรมกำมะหยี่ เฟินขนนก ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ก่อนจะต่อยอดวิจัยำพันธุ์พืชดังกล่าวมาติดตั้งเป็นกำแพงต้นไม้ที่ มจธ.  

หลักการทำงานกำแพงต้นไม้ คือ อากาศที่ปนเปื้อนมลพิษจะเข้าทางด้านหน้าและผ่านชั้นตัวกรองกำแพงต้นไม้ อากาศสะอาดจะออกทางด้านหลัง และส่งเป็นม่านอากาศสะอาด ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ใกล้บริเวณกำแพงต้นไม้จะได้รับอากาศที่สะอาด งานวิจัยชิ้นนี้คว้ารางวัลจากมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติปี 63 

“ ข้อดีของต้นไม้ทำให้พัฒนางานวิจัยต่อเนื่องจนมาสู่วิจัยพืชยืนต้นลดฝุ่นชิ้นล่าสุด ซึ่งดีกว่าเทคโนโลยีกรองฝุ่น ที่ต้องเปลี่ยนไส้กรอง นำกระดาษกรองไปเผาทำลาย สร้างขยะและมลพิษ ไม่มีความยั่งยืนเท่าการปลูกต้นไม้กรองฝุ่น “ รศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าว

แม้การแก้ปัญหามลพิษอากาศ ต้องแก้ที่แหล่งกำเนิด ทั้งการเผาที่โล่ง การเผาไหม้ ฝุ่นละอองจากอุตสาหกรรม การก่อสร้าง แต่เมื่อยังแก้ไม่ได้ นักวิจัย มจธ. เผยนำมาสู่การวิจัยพืชยืนต้นบำบัดฝุ่น ไม่ใช่แค่ไม้ประดับ ได้แนวคิดจากงานวิจัยทั่วโลก ที่เรียก “Green Belt”  หรือเข็มขัดสีเขียว เปรียบเหมือนเกราะป้องกันฝุ่นจากท้องถนนไม่เข้าสู่ชุมชนแหล่งอาศัย

มีการคัดเลือกต้นไม้ยืนต้นของไทยที่จับฝุ่นได้ดีเข้าห้องทดลอง รวมถึงนำต้นไม้ยืนต้นเข้าอุโมงค์ลมแล้วเป่าฝุ่นเข้าไปด้านใน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการฟอกอากาศของพืชยืนต้นและมีการตรวจวัดค่าฝุ่นอีกด้วย ซึ่งพบพืชยืนต้นกว่า 10 ชนิด ช่วยบำบัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ดี  

“ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดหากมีนโยบายสร้างเมืองสีเขียว หรือ Green City ควบคู่การจัดวางต้นไม้ใหญ่ต้นไม้ยืนต้นเพิ่ม จะส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้น อย่างต้นโมก เป็นต้นไม้ลดฝุ่นที่เติบโตได้ดีในกรุงเทพฯ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ หากไม่มีชนิดพันธุ์ในพื้นที่ตามผลวิจัย แล้วต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวลดฝุ่น สามารถปรับประยุกต์เลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบใกล้เคียง มองระยะยาวฝุ่นจะถูกดักจับด้วยสวนป่ากลางกรุง ยังลดอุณหภูมิเมือง อสังหาริมทรัพย์ไทยก็ตื่นตัวทำสวนป่าในโครงการ  ส่วนคนที่อาศัยย่านฝุ่นพิษก็ทำได้ แค่จัดวางต้นไม้ขนาดเล็ก ไม้ประดับ ไม้พุ่ม  พลูต่างๆ บริเวณประตู หน้าต่าง ดักฝุ่น “ รศ.ดร.ชัยรัตน์ ชี้ กทม.ทำได้เลย

รศ.ดร.ชัยรัตน์ เสนอในท้ายผลวิจัยสามารถนำไปขยายผลต่อยอดเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชน  เผยแพร่ในแวดวงวิชาการและส่งเสริมเกษตรกรในการคัดเลือกพันธุ์ไม้เพื่อการค้าได้อย่างเหมาะสม รวมถึงพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างยั่งยืนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ

กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)

รัฐบาลซัดกลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ

'รองโฆษกรัฐบาล' ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องรอบคอบ โต้กลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ ดิสเครดิต รบ.

การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!

'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ

5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า'เขตมลพิษต่ำ'

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม. อ่วมจากฝุ่นปกคลุม  แม้ตอนนี้ชาว กทม. พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น

'พัชรวาท' เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พบ 5 จว.จุดความร้อนพุ่ง แนะ คพ. เร่งประสานทุกหน่วยเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดยมีนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รายงานการดำเนินงานของ ศกพ. และนำเสนอสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5