‘สุนัขชุมชน’ตลาดแม่กลอง โมเดลแก้หมาเร่ร่อน

การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดล้นเมืองด้วยวิธีจับหมามากักขังเลี้ยงไว้ที่ศูนย์พักพิงสุนัข ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมาจรจัดระยะยาวได้ มีตัวอย่างการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืนที่ตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม  แต่ละวันอาสาสมัครในชุมชนช่วยกันดูแลเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร สุขภาพ และสวัสดิภาพของหมา

ยิงยาสลบหมาดุปลอกคอแดง ก่อนฉีดพิษสุนัขบ้า-วัคซีนรวม

น้องหมาในตลาดแม่กลองใส่ปลอกคอแบ่งสีตามลักษณะนิสัย สีเขียว เป็นมิตร ทุกคนจับได้ สีเหลือง ดื้อ ยอมให้เฉพาะบางคนจับได้ ถ้าไม่คุ้นห้ามจับ  สีแดง ระวัง ไม่ยอมให้เข้าใกล้ ไม่ให้ใครจับได้ เรียกว่าแยกให้เห็นลูบหมาตัวไหนได้  เล่นได้ ตัวไหนดื้อ หรือตัวไหนดุที่ควรเลี่ยงเพื่อความปลอดภัย ที่ปลอกคอหมาจะมีชื่อระบุ พร้อม QR Code แสดงข้อมูลการฉีดวัคซีน การผ่าตัดทำหมัน  เพื่อให้คนในชุมชนและหมาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ภายใต้ชื่อโครงการสุนัขชุมชนตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

ณัฐพงษ์ งามสง่า หนุ่มแม่กลองเจ้าของโครงการฯ

หนึ่ง-ณัฐพงษ์ งามสง่า พ่อค้าขายดอกไม้ตลาดแม่กลอง ผู้ริเริ่มไอเดีย เผยที่มาที่ไปว่า เริ่มจากเมื่อ 5 ปีก่อน  ที่ดูแลหมาไม่มีเจ้าของ 4-5 ตัว ที่ใช้ชีวิตหากินแถวร้านขายดอกไม้ตน ก็เอารูปตัวเองใส่เบอร์โทรมาห้อยที่ปลอกคอหมาที่เลี้ยง  เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะคนเลี้ยง ก่อนขยายวงกว้างหมาจรจัดทั้งตลาดแม่กลอง จนกระทั่ง3 ปีที่แล้ว จังหวัดแม่กลองจัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหมาจรจัด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว  ห่วงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว หากเกิดกรณีสุนัขจรจัดกัดคน นำมาสู่การคิดและต่อยอดจากสิ่งที่ตนเองทำไปแล้ว เกิดเป็นโครงการ”สุนัขชุมชนตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม “ มีความร่วมมือจากปศุสัตว์จังหวัด เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวแม่กลองที่ปลอดภัย

“ จากป้ายห้อยคอ พัฒนาเป็นสวมปลอกคอ 3 สี มีป้ายโลโก้ประจำตัว แยกสีตามนิสัย เขียว เหลือง แดง  ถือเป็นสุนัขชุมชน ปัจจุบันมี 30 ตัวขึ้นทะเบียนในโครงการ  แต่ใส่ปลอกคอไม่พอ มีการทำหมันทั้งตัวผู้และตัวเมีย ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนรวม วิธีป้องกันถูกกว่ารักษา อีกทั้งเป็นการดูแลสุขภาพทั้งหมาทั้งคน  นอกจากนี้ จะปรับพฤติกรรมหมาที่ก้าวร้าวให้ดีขึ้น“ หนึ่ง-ณัฐพงษ์ บอก

หมาปลอกคอสีเขียว เป็นมิตร เล่นได้ ลูบได้

จากการช่วยเหลือสัตว์สี่ขาไร้ที่อยู่มาต่อเนื่อง  บางตัวหาบ้านใหม่ให้ จนหมาที่ได้รับการช่วยเหลือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 

“ มีหมาชื่อ แดง กับ ขาว ใช้ชีวิตอยู่ในตลาดแม่กลอง ก็นำเข้าโครงการสุนัขชุมชนฯ สวมปลอกคอสีเหลือง นิสัยดื้อ ใจดี แกมดุ คนมาเที่ยวก็เข้ามาคลอเคลียเล่นด้วย เกิดถูกชะตา ขอไปเลี้ยงที่บ้าน ได้บ้านใหม่ทั้งคู่ ตอนนี้สวมปลอกคอสีเขียว และมีเจ้าของตัวจริงที่จะเลี้ยงดูแลไปตลอดชีวิต “ หนุ่มแม่กลองเล่าด้วยความภูมิใจและรอยยิ้มเต็มใบหน้า

ป้ายแสดงสัญลักษณ์ปลอกคอติดตั้งในชุมชนตลาดแม่กลอง

นอกจากน้องหมาที่ตลาดแม่กลอง ยังอยู่ตามวัดเพชรสมุทร โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แม่กลอง หมาจะมีคนให้อาหารและดูแลบ้าง  คนในชุมชนให้การยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันขยายโครงการสู่โรงเรียนวัดจันทร์เจริญสุข ทำงานร่วมกับ อบต. ดูแลชีวิตหมา 10 ตัว นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบจัดระเบียบหมาจรจัดในโรงเรียนพื้นที่อื่นๆ

“ เราไม่สามารถเอาหมาออกจากโรงเรียนได้ ควรต้องทำให้อยู่ร่วมกันได้และปลูกฝังให้เด็กรักหมา สร้างความรู้และความรับผิดชอบในการดูแลสัตว์เลี้ยงให้กับคนเจนใหม่ๆ  ถ้าเลี้ยงหมาเป็น อนาคตปัญหาหมาจรที่กระทบต่อสังคมจะลดลงแน่นอน เวลาหมาไปทำความเดือดร้อน ขอโทษก่อน ไม่ใช่หนีปัญหาหรือปัดความผิดชอบ “ หนึ่ง-ณัฐพงษ์ กล่าว

คนกับหมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป้าหมายสำคัญ

ทุกวันหลังขายดอกไม้เสร็จ พ่อค้าหัวใจรักสัตว์คนนี้จะตระเวนไปช่วยสุนัขตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีคนโทรมามาแจ้ง พี่หนึ่งบอกงานล้นมือมาก ต้องทยอยทำทีละเคส แต่มักจะมีเคสเร่งด่วนเข้ามา ทั้งเจ็บป่วยต้องช่วยขนไปรักษาที่รพ.สัตว์  หมาโดยรถชน จนถึงข้อร้องเรียนตามชุมชน

สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด จิตอาสาคนเดิมมองว่า  เจ้าของทุกคนต้องเลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ ดูแลสุนัขของตนอย่างดี ทั้งสุขภาพ สวัสดิภาพ มีการทำหมัน และไม่ทอดทิ้งให้เป็นปัญหาของชุมชน  ขณะเดียวกันต้องสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ถูกต้อง สุนัขเป็นเพื่อนร่วมโลก แม้จะมี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์  แต่ก็มีกรณีการทำร้ายทรมานสัตว์จนบาดเจ็บ และหลายครั้งรุนแรงจนเสียชีวิต  ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง พ.ร.บ.สาธารณสุข เพื่อคุมการปล่อยทิ้งสัตว์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชาชนและหน่วยงานรัฐมีทัศนคติแก้ปัญหาสุนัขจรจัดดีขึ้น

“ การกำจัดหมาจร การสร้างศูนย์พักพิงไม่แก้ไขปัญหาหมาจรจัดในระยะยาว เพราะความจริงแนวโน้มหมาจรจัดเพิ่มขึ้น ที่ดินแพงขึ้น สถานที่สร้างศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดหายาก เพราะชุมชนไม่ยอมรับ เมื่อนำสุนัขออกจากชุมชนไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีจัดการในรูปแบบสุนัขของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ไม่ต้องใส่ปลอกคอสีก็ได้ แต่ เทศบาล อบต. สำรวจประชากรหมาเร่ร่อน ขึ้นทะเบียน และทยอยทำหมัน ฉีดวัคซีน “ ณัฐพงษ์ ย้ำถ้าทำเป็นระบบและต่อเนื่องจะสามารถแก้ไขได้อย่างถาวร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โล่งอกทั้งจังหวัด! ปศุสัตว์บุรีรัมย์ยันผลตรวจหมาจรจัดไล่กัดชาวบ้าน ไม่พบเชื้อพิษสุนัขบ้า

ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์เผยผลตรวจสุนัขไล่กัดชาวบ้านกว่า 10 ราย ไม่พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่ก็จะเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นในพื้นที่ ขณะที่ผ่านมา ปศุสัตว์-ทม.บุรีรัมย์-ด่านกักสัตว์ จับมือ แก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า-สุนัข-สัตว์จรจัด

'กัน อรรถพันธ์' นำทีมศิลปินร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสุนัขจรให้อิ่มท้อง

Jerhigh (เจอร์ไฮ) แบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารสุนัข บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลเพ็ทฟู้ด จำกัด ภายใต้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สานต่อโครงการ “หมอหมาใจหล่อ ส่งต่อความรักให้หมาจร ปี 4” จับมือ สัตวแพทย์ 12 ท่าน จาก 12 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เชิญชวนคนรักสุนัขร่วมทำบุญด้วยการโหวต “หมอหมาใจหล่อแห่งปี” ผ่านทาง www.jerhigh.com จนถึงวันที่ 28 เมษายน 2565 ซึ่งคะแนนโหวตทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็นการบริจาคผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขเจอร์ไฮ (1 โหวต = จำนวน 10 กรัม มูลค่า 7 บาท)