รัฐบาลยันไม่เดินหน้าโครงการจะนะ ก่อนรู้ผลประเมิน SEA

1 ก.ค. 2565 – นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของประชาชนบางกลุ่มต่อเรื่องแนวทางการพัฒนา อ.จะนะ จ.สงขลา และมีการส่งต่อข้อมูลจนเกิดความเข้าใจผิดอยู่ในเวลานี้ ข้อเท็จจริงคือ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปดำเนินการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) สอดรับที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบฯ ดังกล่าว ขณะนี้ การกำหนดขอบเขตในการรับฟังความคิดเห็นได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการจัดจ้างสถาบันการศึกษาเพื่อจัดทำ SEA ต่อไปโดยเร็ว ซึ่งจะไม่มีการดำเนินโครงการใดๆก่อนจะได้รับทราบผลการประเมินอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สศช. จะไม่ปล่อยให้มีการดำเนินโครงการใดๆ ก่อนที่การประเมิน SEA จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลรับทราบถึงข้อห่วงใยของประชาชน และพร้อมที่จะดำเนินการให้เกิดความกระจ่าง เพื่อนำไปสู่ความสบายใจของทุกฝ่าย ตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและศักยภาพของพื้นที่ จากโครงการเมืองต้นแบบที่ดำเนินการไปแล้ว คือ อ.เบตง จ.ยะลา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และอ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และคาดหวังจะขยายผลไปยัง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองที่สี่ต่อไป หากผลการศึกษาฯ เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่โดยทั่วกัน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกังวลต่อโครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อระหว่างนี้ ศอ.บต.ยืนยันว่าไม่ใช่โครงการก่อสร้างแต่อย่างใด แต่เป็นโครงการรายงานการศึกษาที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น รายงานการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ รายงานการศึกษาธรรมนูญชุมชน รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดมีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ กล่าวคือ แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เป็นแกนกลางของการศึกษาเรื่องอื่นๆ หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จะส่งผลให้ SEA ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เช่นกัน ทั้ง 2 เรื่อง จึงต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาสอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะที่ การศึกษาธรรมนูญชุมชน โดยสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางและเข้าใจกระบวนการสันติวิธี จะใช้เป็นข้อตกลงกลางระหว่างประชาชนที่เสนอความต้องการและส่วนราชการที่ต้องดำเนินการตามข้อเสนอ เช่น ทุนการศึกษา การสร้างอาชีพให้กับประชาชน การเตรียมพร้อมด้านการเกษตรและประมง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาประมงพื้นบ้าน เป็นต้น

“จึงขอให้ทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้าง รัฐบาลตระหนักถึงความแตกต่างทางความคิดของทุกฝ่าย และยืนยันให้มีการศึกษาอย่างรอบคอบโดยหน่วยงานที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี บนพื้นฐานการทำงานที่ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เป็นของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

'คารม' ย้ำขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ เผย 14 พ.ค.นี้ คกก.ค่าจ้างฯ เตรียมประชุมพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

รัฐบาลกวักมือเรียกผู้กู้ กยศ.ที่ถูกดำเนินคดีเร่งปรับโครงสร้างหนี้ด่วน!

รัฐบาลเชิญชวน ผู้กู้ยืม กยศ. ถูกดำเนินคดีในปี 2557 ที่ยังมีภาระหนี้ค้าง เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน