สธ. เคลียร์ปมกัญชาเสรี ยันไม่เอื้อใช้ผิดวัตถุประสงค์ ยกกม. 2 ฉบับเอาผิดทั้งจำ-ปรับ

"สธ." ขนทัพ แถลงโต้ สุญญากาศทางกฎหมาย เอื้อ ใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์ ยก ก.ม. 2 ฉบับ เอาผิดทั้งจำทั้งปรับ ยืนยัน ปลดล็อคกัญชาในไทยไม่ผิดอนุสัญญาเดี่ยว 1961 ปลดพ้นยาเสพติดแล้ว ด้าน "ศุภชัย" ตอกกลับ "สุทิน" ไม่ทำข้อมูล อ้างอดีต กก.ยาเสพยาเสพติดระหว่างประเทศ ที่แท้ เดินหน้าทำธุรกิจกัญชาไทยไทย แจงแทน "อนุทิน" ปม มีผลประโยชน์ทับซ้อน

19 ก.ค.2565 - เมื่อเวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ ว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์นั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ 986 แห่ง ทั้งรัฐและเอกชน เพื่อจ่ายยากัญชา มีแพทย์ผ่านอบรมการใช้กัญชารักษาโรคทั่วประเทศ 7.5 พันคน แพทย์แผนไทยอีกว่า 7 พันกว่าคน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่ 62 ถึงปัจจุบันมีการจ่ายยากัญชารักษาโรคไปมากกว่า 4.5 แสนครั้งผุ้ป่วยกว่า 1.4 แสนคน นับว่าเป็นประโยชน์มาก รวมถึงมีการทำการวิจัย ทั้งต้น กลาง ปลาย คือปลูก แปรูป และการทำไปใช้ประโยชน์ โดยมีการวิจัยกว่า 60 เรื่อง เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยแน่นอน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์มีมานาน โดยแบ่งข้อบ่งชี้เป็น 3 ข้อใหญ่ 1. กลุ่มได้ประโยชน์ และมีเอกสารอ้างอิง มีงานวิจัยชัดเจน อาทิ การใช้สารสกัดในกลุ่มผู้ป่วยรับยาเคมีบำบัด มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มะเร็งระยะสุดท้ายมีการศึกษาในไทยพบว่าดีขึ้น โรคลมชักในเด็กที่ใช้ยาทุกนิดแล้วไม่ได้ผล โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (สถานสถาบันเด็ก) ร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา รับคนไข้เข้ามาและใช้กัญชารักษา พบว่าได้ผลครึ่งหนึ่ง ซึ่งตรงกับข้อมูลการศึกษาในต่างประเทศ ส่วนผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง มีอาการทางประสาท และปวดประสาทส่วนกลาง พบว่าได้ผล 40-50 % นอกจากนี้ยังใช้ยากัญชาเพื่อเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ ถือว่าได้ประโยชน์ชัดเจน 2. กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โดยมีการศึกษาที่เชียงใหม่ พบว่า 13-14 % ได้ผล ขณะที่โรคปลอกประสาทอื่นๆ และโรคอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าหากเรามีญาติที่ใช้ยาอะไรก็ไม่ได้ผล อย่างโรคพาร์กินสันนั้นชัดเจนมากว่าเมื่อมีการให้สารสกัดจากกัญชาแล้วพบว่าได้ผล 30% และ 3. กลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ คือ โรคมะเร็ง แต่ยังทดลองในหลอดทดลอง ซึ่งพบว่าสารสกัดในกัญชาสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้

“ยืนยันรองนายกฯ สั่งการมาที่ผม ให้ทำเรื่องสารสกัดกัญชาทางการแพทย์อย่างเต็มที่ ยืนยันว่ารมต.มาเลเซีย มาหารือที่เจนีวา ซึ่งผมก็อยู่ด้วย เขาอยากมาเรียนรู้จากเรา และเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มาขอความรู้จากเราว่าหากปลดล็อคใช้สารสกัดทางการแพทย์ ก็จะมาขอวามรู้จากกรมการแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย นั้นกรมได้นำตำรับยาที่เข้ากัญชาในตำรา กว่า 162 ตำรับ สำหรับการรักษา 13 กลุ่มโรค เช่น ยาแก้ลม แก้เส้น รักษาท้องอืด ท้องเฟ้อ รับประทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ และจะมีการทยอยถอดรายละเอียดสูตรตำรับ เพิ่มเติม ทั้งนี้ มีการผลิตและกระจายใช้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน ( รพช.) กระจายไปทั้งหมด 19 ตำรับ และยังมียากัญชาที่บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ 5 ตำหรับ ที่สามารถเบิกจ่ายไดทั้ง 3 สิทธิ คือบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ได้รับยาประมาณ 1 แสนราย รวมผู้ป่วยที่กรมการแพทย์จ่ายยากัญชาให้อีก รวมแล้วกว่า 2.4 แสนคน นอกจากนี้ยังมีการวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัย กว่า 49 เรื่อง ที่จะทยอยออกผลเชิงกรุกและการนำไปใช้ประโยชน์

สิ่งสำคัญคือ เรามีการออกประกาศ ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมมีผล 17 มิ.ย. เพื่อ 1. กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม 2. เพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบางไม่ให้เข้าถึงกัญชาโดยง่าย คือ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ขณะที่แพทย์สามารถทำวิจัย รักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาเหมือนเดิม และ 3. ผู้ป่วยยังสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาได้ ไม่ได้มีการลิดรอนสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.คุมครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ซึ่งจะควบคุมเรื่องการแปรรูป มวนขาย ต่างๆ แค่ภาพถ่าย 1 รูปแชร์กันเป็นปี ทั้งนี้เป็นสมุนไพรควบคุม จะมีมาตรา 46 กำหนดว่าบุคคลถ้าไม่ได้รับอนุญาตไม่สามารถแปรูเพื่อการค้า จำหน่าย วิจัยได้ ดังนั้นใครฝ่าฝืน จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทโดยกรมจะพยายามควบคุมไม่ให้มีการละเมิด เพราะหากไม่ทำตามจะถือเป็นความผิดอาญา ซึ่งเราไม่อยากดำเนินคดีกับคนที่ยังไม่รู้ ตรงนี้จึงได้ได้มีการประสานและสื่อสารสังคมถึงข้อกฎหมายที่มีอยู่ พยายามอย่าทำเพราะจะทำให้กัญชาไม่ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างแท้จริง

“ขอยืนยันว่าไม่มีสุญกาสทางกฎหมาย เรามีมีกฎหมายชัดเจนในการคุมครองประชาชน” นพ.ยงยศ กล่าว

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยออกประกาศให้กลิ่นควัน กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ใกล้ชิด จึงขอย้ำประชาชนหากพบเห็นขอให้แจ้งเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน หากเจ้าหน้าที่พบเห็นสามารถใช้อำนาจ ตักเตือน ระงับเหตุ หากไม่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 27 กรณีกระทำในที่สาธารณะ และมาตรา 28 กรณีสถานที่เอกชน โดยมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ทั้งนี้ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเตือนก็ร่วมมือดี ประการต่อมาคือการดำเนินการคุมครองผู้บริโภคในร้านอาหาร มีการออกประกาศเรื่องการนำใบกัญชามาปรุงอาหาร ยืนยันว่าอนุญาตให้ใช้ใบกัญชา ไม่ใช่ช่อดอก โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการควบคุมการจำหน่าย ด้วยการแสดงประกาศว่าในร้านใช้กัญชาหรือไม่ ใช้ในเมนูไหน ใช้เท่าไหร่ และมีคำแนะนำหรือคำเตือน สอดรับกับพ.ร.บ.สมุนไพรควบคุม และเตือนเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ทั้งนี้กรมจะมีการยกระดับประกาศดังกล่าวให้เป็นกระกาศกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือนนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ขณะที่ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กรณีที่มีการอภิปรายว่าการปลดล็อคกัญชาของประเทศไทยอาจจะผิดข้อตกลงอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961 นั้น ขอชี้แจงส่า ในบทบัญญัติตามอนุสัญญาเดี่ยวนั้น มีการกำหนดควบคุมกัญชาไว้ใน 2 ตาราง คือตารางที่ 1 ใช้ทางการแพทย์ได้ ตารางที่ 4 กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ต่อมาทางองค์การสหประชาชาติได้มีการตัดการควบคุมกัญชาออกจากตารางที่ 4 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ดังนั้นจึงเหลือเพียงสถานการณ์ใช้ทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงได้มาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อใช้ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพได้ เรากำกับการเป็นสมุนไพร อาหาร ละเครื่องสำอาง ดังนั้นขอให้มั่นใจว่าประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และอย. ปฏิบัติสอดคล้อง อนุสัญญาเดี่ยว 1961 แน่นอน

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กรณีที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายฯ โดยอ้างถึงดร. วิโรจน์ สุ่มใหญ่ อดีตประธานคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ เล่าว่าไทยกำลังทำผิดข้อตกลงตามที่ลงนามในอนุสัญญาเดี่ยวฯ ซึ่งตนขอยืนยันที่กล่าวมาโดยอ้างดร.วิโรจน์ นั้น จริงๆ พอท่านพ้นวาระแล้วกลับประเทศไทยก็พบว่ามีการมาทำธุรกิจกัญชาในไทย ดังนั้นหากการปลดล็อกกัญชาเป็นเรื่องผิด หรือผิดกฎหมาย ท่านคงไม่คิดมาทำ แต่การที่ท่านมาทำตรงนี้ก็เป็นการยืนยันว่าดร.วิโรจน์ หรือสส.ที่อภิปรายเรื่องนี้ ใครทำผิดกันแน่

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า อีกประเด็นกรณีมีการอภิปรายว่าอนุทิน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในธุรกิจกัญชานั้น ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรี ท่านได้ให้บริษัทเกียรตินาคิน เป็นผู้บริหารทรัพย์สินแทน ส่วนบริษัทเกียรตินาคินจะไปถือหุ้นที่ไหนก็เป็นเรื่องของบริษัทเกียรตินาคิน ส่วนที่ระบุว่ามีหุ้น 100% ในบริษัทแคนนาธอรี่ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์การทำกัญชงจริง แต่เนื่องจากเห็นว่าการปลูกกัญชงในพื้นที่จังหวัดชลบุรีไม่เหมาะสม จึงได้ยกเลิกการทำธุรกิจมาตั้งแต่ 2560 ดังนั้นต่อให้มีการหาผลประโยชน์ก็ไม่เกี่ยวกับนายอนุทิน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ซึ่งเรื่องนี้นายอนุทินไม่ได้ชี้แจง แต่ตนกังวลว่าจะมีข้อสงสัยจึงขอชี้แจงแทน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย