ชำแหละที่มาต้นทุนค่าไฟพุ่ง! สอนรัฐ 3 วิธี ลดภาระประชาชน

29 ก.ค. 2565 – นายนพดล มังกรชัย ประธานฝ่ายวิชาการ พรรคไทยสร้างไทย และอดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ทำให้ทุกคนต้องประหลาดใจโดยพบว่า ประเทศเรามีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งระบบอยู่ที่ 46,803 เมกะวัตต์ แต่ที่จริงแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะมีความสามารถผลิตได้เองแค่ 33.16% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตโดยภาคเอกชนและนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวม 30,600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 66.84% อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐขาดอำนาจในการถ่วงดุลเรื่องราคาค่าไฟฟ้า

หากพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้า จะพบว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรมีการทบทวนโดยเร่งด่วน คือ เรื่องตัวเลขการสำรองไฟฟ้า ซึ่งปกติแต่ละประเทศจะผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน กำหนดค่าการสำรองไว้ไม่เกิน 15% (ประมาณ 4,500 เมกะวัตต์) แต่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กลับมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินความต้องการ ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2559 มีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ 7,000 เมกะวัตต์ พอมาปัจจุบันตัวเลขการสำรองสูงขึ้นไปอีกถึง 12,000 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง และกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินสูงถึง 48,929 ล้านบาท/ ต่อปี ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระในปัจจุบัน หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายโดยเฉลี่ยที่ 2,000 บาท/ ต่อคน/ ต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องการประกันค่าตอบแทนการลงทุนในรูปของการชำระ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของสัญญาการผลิตไฟฟ้าป้อนรัฐ ซึ่งทำไว้กับภาคเอกชนหลายราย บางรายก็เป็นบริษัทในกลุ่มในเครือของ กฟผ. เอง โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าแม้ไม่ใช้ไฟก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (ไม่ว่าจะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ตาม) ทำให้ประชาชนต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 2,550 ล้านบาท/ ต่อเดือน หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท/ ต่อปี

ในทุกกระบวนการกว่าจะมาเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับ มีตัวละครหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องผ่านขั้นตอนการซื้อการขายไฟฟ้ามาหลายทอด ทุกๆ ทอดมีการทำกำไรและบวกผลประโยชน์ของตนเข้าไปกว่าจะมาถึงประชาชนก็ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าพุ่งสูงไปลิบลิ่ว

พรรคไทยสร้างไทย ขอเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดในการกำกับดูแลสาธารณูปโภคของรัฐจากการมุ่งเน้นการทำกำไรเข้ารัฐ มาเป็นการคิดหาทางออกเพื่อช่วยเหลือประชาชน หาทางลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เอาใจใส่ในเรื่องปากท้องของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่นใด ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันยังพบว่าก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งได้มีการนำไปผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) แต่ไม่ได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของภาคประชาชนหรือในครัวเรือนทั้งหมด ภาคประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพียงแค่ 35% เท่านั้น ที่เหลือถูกนำไปใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งที่จริงแล้วรัฐควรให้ภาคประชาชนได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในไทยก่อนภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า FT พบว่า มีค่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 236.97 สตางค์/ต่อหน่วย (เพิ่มขึ้นมาจากเดิม 212.20 สตางค์/ต่อหน่วย) สาเหตุหลักนอกจากได้รับผลกระทบมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ยังได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลยังคงกำหนดนโยบายแบบเดิม ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง คือใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ต้องปรับสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเพิ่มทุกข์ยากให้แก่ประชาชนในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นในปัจจุบัน

พรรคไทยสร้างไทย ขอนำเสนอแนวทางลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 3 ประการ ดังนี้

1.ขอให้รัฐต้องเร่งเปิดเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย และบางส่วนเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ให้มีการทบทวนนโยบายการสำรองพลังงาน (กำหนดอัตราส่วนการสำรองมากเกินไปหรือไม่) พร้อมทบทวนข้อสัญญาในเรื่องการประกันความเสี่ยง และเปิดเจรจาเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงมา เพราะตรงจุดเหล่านี้ คือค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน

2.เร่งช่วยเหลือคนตัวเล็ก สำหรับบ้าน หรือร้านค้าขนาดเล็กที่ใช้ไฟ (ค่าไฟ) ไม่เกิน 1,000 บาท รัฐบาลช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง คือ 500 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก

3.ขอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ จนประเทศขาดภูมิคุ้มกัน และอาจต้องเผชิญหน้ากับการเกิดวิกฤตพลังงานในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องรีบทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงพลังงานทางเลือกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ โซล่ารูฟท็อป โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะในลักษณะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หากมีไฟฟ้าเหลือแล้ว ก็สามารถนำไปขายต่อให้กับภาครัฐได้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ยังเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม และสามารถนำ Carbon Credit มาขายได้อีกด้วย โดยรัฐต้องให้การส่งเสริมการลงทุน และช่วยเหลือในเรื่องภาระภาษีแก่กิจการเหล่านี้อย่างจริงจัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟผ.ชวนสัมผัส “ELEXTROSPHERE โลกใหม่ Right คาร์บอน” โซนใหม่ศูนย์การเรียนรู้ จัดเต็มความรู้คู่ความสนุก พบกัน 2 เมษายนนี้!

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งทำขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การแบ่งปันองค์ความรู้สู่สังคม หรือ Learning for Society

กกพ. ตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย ถึง ส.ค. 67

กกพ. ประกาศตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย จนถึงเดือน ส.ค. 67

ฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ 5 ดาว ประหยัดไฟ รักษ์โลกมากกว่าเดิม

แม้ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนเพียงไม่นาน แต่บางพื้นที่มีอุณหภูมิร้อนแรงแตะ 45 องศาเซลเซียส ทำให้หลายคนเตรียมปาดเหงื่อทั้งจากอากาศที่ร้อนจัด

จับตาก้าวไกลชก(ไม่)เต็มหมัด ชำแหละรบ.เศรษฐาผ่านศึกซักฟอก

ในที่สุด พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่ ได้หารือเห็นพ้องร่วมกันสัปดาห์หน้า จะยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152